คนไทย 2.75 ล้านคนติดเหล้า พบน้ำเมาฆ่าชีวิตทุก 10 นาที วอนรัฐหนักแน่น หยุดแก้กฎหมายเอื้อนายทุน จี้ภาคธุรกิจยึดจรรยาบรรณ เลิกฉ้อฉล บิดเบือน โยนความผิดให้ผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ที่โรงแรมเอเชีย ในเวทีเสวนา “พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใครเดือดร้อน: ธุรกิจหรือประชาชน” จัดโดย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มูลนิธิเมาไม่ขับ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงกรณีที่สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อให้ขยายเวลาขายสุรา และยกเลิกมาตรการอื่นๆที่อ้างว่าเป็นอุปสรรคในการค้าขาย เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์นั้น ตนอยากอธิบายว่า สุราเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีความต้องการของตลาด ความพิเศษ คือ ลดทอนสติสัมปชัญญะและสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมโดยรวม สะท้อนจากงานวิจัยจำนวนมาก ระบุถึงผลกระทบ คือ สุราเป็นสาเหตุการตายของประชากรโลก มากถึง 3.3 ล้านคนต่อปี เฉพาะคนไทยตายจากน้ำเมาทุก 10 นาที ปีละกว่า 5 หมื่นคน สุราเป็นสาเหตุของโรคถึง 200 ชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็งตับซึ่งเป็นอันดับ 4 ของสาเหตุการตาย และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละ 90,000-150,000 ล้านบาท
พบว่า สุราเป็นสาเหตุการตายของเยาวชน อายุ15-29 ปีกว่า 9% ที่น่าห่วงคือ คนไทยสูงถึง 2.75 ล้านคน ติดสุราหรือมีพฤติกรรมดื่มแบบอันตราย อีกทั้งยังมีผลกระทบรอบตัวมากมาย เช่น 1 ใน 4 หรือ 24.6% เคยถูกคุกคามทางเพศ และทำร้าย ร่างกายจากคนที่ดื่มสุรา ซึ่งความสูญเสียมากที่สุดคืออุบัติเหตุและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทุกปีมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสองหมื่นกว่าราย ในจำนวนนี้ 60% มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนด
ขณะเดียวกัน รายงาน Travel and Tourism Competitiveness 2015 จัดทำโดย World Economic Forum ได้จัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยเป็นลำดับที่ 35 โดยสิ่งที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาเร่งด่วนคือความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพอานามัยของนักท่องเที่ยว ดังนั้นการมีนโยบายและกฏหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยทั้งชีวตและทรัพย์สิน
รศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดาทั่วๆ ไป เนื่องจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและโรค และมีผลเสียต่อเศรษฐกิจระดับชาติมากกว่าผลดี ดังนั้น จึงต้องควบคุมอย่างเข้มงวด หลายประเทศมีนโยบายควบคุมผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ มาตรการทางภาษีและมาตรการการห้ามโฆษณาอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งห้ามการเป็นผู้อุปถัมภ์รายการต่างๆ และห้ามประชาสัมพันธ์โครงการที่รับผิดชอบต่อสังคม
นอกจากนี้หลักฐานงานวิจัย พบว่า การควบคุมโฆษณาอย่างสิ้นเชิง จะช่วยลดการดื่มลงและลดอันตรายที่เกิดจากการดื่มสุรา และนโยบายการควบคุมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุรา ทั้งจำกัดจำนวนร้านค้าปลีก สถานที่ให้บริการ และเวลาที่อนุญาตให้จำหน่าย เป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ระดับโลกขององค์การอนามัยโลก และเป็นมาตรการที่สำคัญในการลดความสูญเสีย
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ดังนั้นกลุ่มที่เดือดร้อนจากพ.ร.บ.ดังกล่าว ฟันธงได้ไม่ยาก มีกลุ่มเดียวคือ ธุรกิจน้ำเมา ที่จะเสียผลประโยชน์ นอกนั้นได้ประโยชน์หมด เช่น สังคมไทยเสียเงินไปดูแลปัญหาจากน้ำเมาน้อยลง ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจน้ำเมา สร้างปัญหามากมายหลายมิติ ทั้งต่อสังคมไทยและมนุษยชาติ โดยเฉพาะกับเยาวชน ที่เราชอบอ้างว่าเป็นอนาคตของชาติ แต่ปล่อยให้น้ำเมาทำลายสมองเยาวชน ตั้งแต่อายุน้อย ด้วยการทำการตลาดอย่างไม่รับผิดชอบ เห็นเยาวชนเป็นเหยื่อ แต่กลับโยนความผิดให้ลูกค้าของตนเอง โดยกล่าวหาว่า ปัญหาเกิดจากดื่มอย่างไม่รับผิดชอบ โดยไม่ยอมบอกว่า สินค้าของตัวเองเป็นสารเสพติด ที่ทำลายสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมความรับผิดชอบ
"อยากเรียกร้องไปยังธุรกิจน้ำเมา ให้หยุดแทรกแซงกฎหมาย เพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ มากกว่าคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน และประชาชนไทย ควรหันมารับผิดชอบสังคม ทำธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ ปฏิบัติตามกฎหมาย หยุดหาช่องว่าง บิดเบือน ฉ้อฉล อีกทั้งรัฐบาล และ กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อง หนักแน่น ยึดมั่นในเจตนา ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551” เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ขอคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เนื่องจากเป็นสินค้าอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ใช่นมหรือน้ำอัดลม และผู้ที่ดื่มอาจไปสร้างความสูญเสียให้คนอื่น ทั้ง อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท ฯลฯ
ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่สินค้าอันตรายนี้จะต้องถูกควบคุม การจำหน่าย การโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม กำหนดช่วงเวลา รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ซึ่งกว่า10 ปีแล้ว ที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ถ้าผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญและบังคับใช้อย่างจริงจังต่อเนื่อง เชื่อว่าความสูญเสียจะลดน้อยลง อยากฝากไปยังผู้ผลิตและจำหน่าย ตราบใดที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ แต่ควรคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แค่นี้ประเทศไทยก็สูญเสียพอแล้ว มีผู้เสียชีวิตติดอันดับ 1 ของโลก ปี2559 บนท้องถนตาย 22,356 ศพ กว่าครึ่งเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยากถามว่าธุรกิจน้ำเมาจะเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียเหล่านี้อย่างไร
- 39 views