เปิดฉากสัมมนาความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน ระดมสมอง ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน หลังพบอุบัติเหตุคร่าชีวิตปีละกว่า 2 หมื่นราย มท.2 เผย รัฐบาลประกาศ 7 มาตรการเร่งเดินหน้าเต็มกำลังลดอัตราตาย หนุนกลไก ศปถ. จังหวัด อำเภอ อปท. จำกัดความเร็วเขตเมืองสั่งตรวจแอลกอฮอล์ทุกราย กำหนดมาตรฐานออกใบขับขี่เยาวชน บิ๊กไบค์ หวังเดินสู่เป้าหมายทศวรรษแห่งการปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยทางถนน
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กร มูลนิธิ ร่วมจัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 นี้ ภายใต้แนวคิด “ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน” Invest for Sustainable Road Safety ในระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคม 2560 นี้
โดยมีผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน เข้าร่วมกว่า 1,500 คน ได้ร่วมรับทราบทิศทางนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานหลัก พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน
นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า การป้องกันและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่รัฐบาลตระหนัก โดยถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ ในข้อ 5.4 ว่า “ป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในการจราจร อันนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยการร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ ในการตรวจจับเพื่อป้องกัน การรายงานและการดูแลผู้บาดเจ็บ” และส่งเสริมการทำงานตามแผน "ทศวรรษแห่งการปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2554-2563" เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 รัฐบาลได้เน้นย้ำให้มีการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการ 4 ห้าม 2 ต้อง ได้แก่ ห้ามขับเร็ว ห้ามดื่ม-เมาขับ ห้ามง่วงขับ ห้ามโทรขับ และต้องคาดเข็มขัด ต้องสวมหมวกนิรภัยเมื่อขี่จักรยานยนต์
นายสุธี กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งพัฒนาและเพิ่มการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน ในเรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญ เพื่อไปสู่เป้าหมายแห่งการสร้างถนนปลอดภัย ดังนี้
1.สนับสนุนกลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด อำเภอ ให้บูรณาการกับหน่วยงานหลักในการจัดการปัญหาในพื้นที่
2.ปรับปรุงระเบียบงบประมาณของศปถ.อปท. ให้ใช้งบประมาณมาจัดการปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่
3.ให้กระทรวงแรงงาน เพิ่มบทบาทเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ในเรื่องความปลอดภัยทางถนนในทุกโรงงาน ตามแนวทาง Safety Thailand เพราะผู้ประกันตน 40% เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
4.เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การจัดการความเร็วในเขตเมือง ให้ลดเหลือ 50 กม./ชม. การจัดการปัญหา “เมาแล้วขับ” อย่างจริงจัง ทั้งเพิ่มบทลงโทษ และเพิ่มการตรวจจับ โดยการตรวจวัดแอลกอฮอล์ทุกราย
5.ส่งเสริมความปลอดภัยในกลุ่มเสี่ยงหลักโดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์ รถจักรยานและคนเดินถนน โดยกำหนดมาตรฐานรถจักรยานยนต์ทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์ ABS: AntiBrake System ป้องกันล้อล็อกและเสียหลักเวลาเบรก การกำหนดอายุขั้นต่ำและมีใบขับขี่เฉพาะสำหรับรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (Big Bike) เพื่อลดความเสี่ยงจากเยาวชนและผู้ที่ขาดทักษะการขับขี่ พร้อมกำหนดให้ทุกจังหวัดจัดทำพื้นที่ความปลอดภัย Safety Zone สำหรับคนเดินถนน จักรยานและผู้สัญจร
6.ให้เด็กมีการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา
7.สนับสนุนให้มีกลไกสอบสวนสาเหตุ การติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ โดยสถาบันหรือหน่วยวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน ดำเนินการกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานวิชาการต่างๆการรวบรวมข้อมูลการเกิดเหตุและสาเหตุที่แท้จริงเพื่อแนวทางป้องกันแก้ไข
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของโลก โดยแต่ละปีมีทั่วโลกผู้เสียชีวิตถึง 1.3 ล้านคนและบาดเจ็บกว่า 50 ล้านคน จนองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ปี 2554 -2563 เป็นทศวรรษแห่งการปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้ประเทศสมาชิกร่วมกันกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการลดอัตราผู้เสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง โดยบรรจุให้เป็นตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศนั้นๆ ด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงติดอันดับต้นๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยตัวเลขเสียชีวิตจากข้อมูลใบมรณบัตรเฉลี่ย 14,000-15,000 คน/ปี หรือ เฉลี่ยวันละ 40-50 คน และเมื่อตรวจสอบข้อมูล 3 ฐาน (มรณบัตร ตำรวจ และประกันภัย) ก็พบยอดเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 หรือเฉลี่ย 20,000 ราย/ปี โดยมีมูลค่าความสูญเสียสูงถึง 5 แสนล้านบาท หรือ 6% GDP ทั้งนี้ การสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 นี้ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญในเรื่องการลงทุนผ่านเสาหลักต่างๆ และสอดคล้องกับทิศทาง : เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มุ่งเน้นให้ทุกประเทศเพิ่มความเข้มแข็งของระบบบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมาย และที่สำคัญคือมีแนวทางและแผนงานในการ “ลงทุน” เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน
- 4 views