กรรมการแพทยสภา แนะแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน เสนอตั้งบุคลากร ER เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ใครดูหมิ่น-ทำร้าย ระวางโทษคุก 1 ปี
นพ.สุรจิต สุนทรธรรม
นพ.สุรจิต สุนทรธรรม กรรมการแพทยสภา กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางออก แก้ไข ป้องกันและแก้ปัญหา วิกฤต ความรุนแรงในโรงพยาบาล ER ในโรงเรียนแพทย์ และการจัดระเบียบ” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ผู้ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในสถานพยาบาลไม่ใช่แพทย์แต่เป็นพยาบาล ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาพบว่าพยาบาลเกิน 50% ประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าว และ 95% เชื่อว่าความรุนแรงจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดย 1 ใน 4 ของพยาบาลไม่มีความสุขในการทำงาน โดยเฉพาะในห้องฉุกเฉิน ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยก็คงมีสถานการณ์คล้ายคลึงกัน
นพ.สุรจิต กล่าวว่า ในประเทศไทย ER ไม่ใช่ emergency room แต่เป็น everything room นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลในประเทศไทยมีน้อยมากที่จะมีห้องฉุกเฉิน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นห้องจิปาถะทั้งสิ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือการทำให้ER เป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ โดยสำหรับปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน สามารถแบ่งออกมาได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่1.ด่าทอด้วยวาจา 2.ทำร้ายร่างกาย 3.สืบหาสะกดรอยตามรวมถึงใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ ซึ่งหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาได้แนะนำวิธีการจัดการความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน โดยให้จัดทำเป็น 3 เฟส ได้แก่ 1.ระยะป้องกันคือก่อนเกิดเหตุ 2.ระยะเกิดเหตุ 3.ระยะหลังเกิดเหตุ
สำหรับระยะก่อนเกิดเหตุนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้บริหารตั้งแต่ระดับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงมาจนถึงหน่วยบริการ ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการป้องกันความรุนแรง โดยเฉพาะการประกาศวาระ zero tolerance เมื่อมีการประกาศแล้วก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้คนไข้ทราบถึงสิทธิของบุคลากรในวิชาชีพ และต้องวางแนวทางให้เกิดการปฏิบัติจริง รวมถึงต้องมีแนวทางและมาตรการในการติดตามและดำเนินการด้วย เช่น หากพบการด่าทอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ก็ควรต้องมีการแจ้งความโดยทันที เพื่อให้มีการบันทึกไว้
ขณะเดียวกันต้องมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงาน ยกตัวอย่างที่ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองติดอันดับ 1 ใน 5 อันตรายของประเทศ โดยห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจะเป็นระบบปิด คือไม่ให้เข้าใดๆ ทั้งสิ้น ทางเข้าของรถพยาบาลกับคนไข้ที่เดินเข้ามาเป็นคนละทางกันและมองไม่เห็นกัน แม้แต่บุคลากรในโรงพยาบาลที่ไม่เกี่ยวข้องกับห้องฉุกเฉินก็เข้าไม่ได้ มีการตรวจเข้มข้น มีกล้องวงจรปิด ต้องฝากสัมภาระทุกอย่างก่อนเข้า และกำหนดระยะเวลาการเข้าสั้นๆ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ได้รับการฝึกฝนโดยเฉพาะ จากบริษัทที่ฝึกอบรมการรักษาความปลอดภัยห้องฉุกเฉินโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ สิ่งที่โรงพยาบาลต้องทำคือแผนการปฏิบัติการเมื่อเกิดเหตุความรุนแรง และการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารไว้ล่วงหน้าเพื่อกำหนดแผนการทำงานร่วมกัน รวมทั้งจัดทำแนวทางการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง
นพ.สุรจิต กล่าวถึงการดำเนินการของโรงพยาบาลในระยะเกิดเหตุว่า จำเป็นต้องมีระบบที่ใช้ขอความช่วยเหลือด่วนได้ คือกดปุ่มเดียวแล้วจบ มีการทำแผนเพื่อให้บุคลากรสามารถหลบหลีกออกจากเหตุการณ์ความรุนแรงได้ ต้องบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและรายงานต่อผู้บริหารทุกครั้งโดยไม่มองว่าเรื่องความรุนแรงเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
สำหรับระยะหลังเกิดเหตุ จำเป็นต้องรายงานเหตุการณ์ตามแนวทางปฏิบัติของโรงพยาบาล ค้นหาสาเหตุและแนวทางป้องกัน ที่สำคัญคือต้องมีมาตรการเยียวยาให้บุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง จัดทำระบบการฝึกอบรมการจัดการความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและซ้อมแผน จัดทำข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและความสำเร็จในการปฏิบัติการตามมาตรการต่างๆ
“ในเมื่อบ้านเรามีแต่ห้องจิปาถะแต่ไม่มีห้องฉุกเฉินจริงๆ จึงขาดการบริหารจัดการเชิงนโยบายและเชิงระบบเพื่อป้องกันภาวะความรุนแรง บุคลากรก็ขาดประสบการณ์ ไม่เคยฝึกไม่เคยเรียนรู้ บุคลากรไม่รายงานเหตุการณ์เพราะรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ รายงานไปก็ไม่ถูกแก้ไขปัญหาใดๆ” นพ.สุรจิต กล่าว
นพ.สุรจิต กล่าวอีกว่า ห้องฉุกเฉินสามารถปิดได้หากมีความเสี่ยง และโรงพยาบาลก็ไม่จำเป็นต้องเปิดทำการตลอดเวลา อย่างในสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ว่าเฉพาะโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 100 เตียงขึ้นไปเท่านั้น ถึงจะต้องเปิดทำการตลอดเวลา ส่วนโรงพยาบาลเล็กๆ ปิดบ้างก็ได้ ไม่ต้องมีห้องฉุกเฉินก็ได้ เราสามารถประกาศได้เลยว่าโรงพยาบาลไม่มีห้องฉุกเฉิน มีแต่ห้องด่วนและเจ็บป่วยเล็กน้อยเท่านั้น หรือถ้าอยู่ใกล้ๆ กันก็เข้าเวรรวมกัน 2-3 แห่ง และใช้ระบบขนส่งผู้ป่วยแทน
“ในประเทศอังกฤษจะทำให้ผู้ป่วยไม่มาที่ห้องฉุกเฉิน นั่นหมายความว่าต้องมีระบบคัดแยกผู้ป่วยสำหรับมาห้องฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ใช่มาคัดแยกกันที่ห้องฉุกเฉิน อันไหนรักษาได้ตรงหน้าก็รักษาเลย ไม่ใช่ขนคนไข้มารกในห้องฉุกเฉิน” นพ.สุรจิต กล่าว
นพ.สุรจิต กล่าวถึงสิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการว่า สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือสภาวิชาชีพต้องร่วมกันประกาศวาระ zero tolerance ประกาศสิทธิผู้ประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับสิทธิผู้ป่วย อาจจะทำโครงการฝากโรงพยาบาลไว้กับตำรวจ ที่สำคัญคือต้องผลักดันให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะเท่ากับว่าผู้ปฏิบัติงานทำงานโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย หากถูกคนไข้ดูหมิ่นก็จะระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือแม้แต่คนไข้ปฏิเสธไม่รับการบริการแต่ภาวะนั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตก็มีความผิด ถ้าคนไข้แจ้งความเป็นเท็จ ต่อสู้ขัดขวางก็จะมีโทษเช่นกัน
- 141 views