กรรมการแพทยสภา ยืนยันความแออัดในห้องฉุกเฉินคือปัจจัยหนุนความรุนแรงในสถานพยาบาล ชงแนวทางร่วมจ่าย เสนอให้รัฐบาลใช้ ม.44 เลิกกฎหมายบัตรทอง แล้วเพิ่มสิทธิรักษาฟรีแก่คนจน
นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ กรรมการแพทยสภา กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางออก แก้ไข ป้องกันและแก้ปัญหา วิกฤต ความรุนแรงในโรงพยาบาล ER ในโรงเรียนแพทย์ และการจัดระเบียบ” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาลหรือในห้องฉุกเฉินมีปัจจัยหลักอยู่เพียงเรื่องเดียวคือความรู้สึกของคนไข้และความรู้สึกของบุคลากรต่อความเร่งด่วน นั่นคือความรู้สึกต่อ emergency และ urgency แต่มีปัจจัยเสริมคือความวุ่นวาย ความมากมายของผู้รับบริการ
ทั้งนี้ ในสภาวการณ์ห้องฉุกเฉินกรณีที่มีพนักงานเพียงพอและคนไข้น้อย คนไข้ที่เข้ามาในห้องฉุกเฉินจริงๆ จะกังวลในเรื่อง emergency และ urgency ที่แท้จริงคืออาการเจ็บป่วยของตัวเอง คนส่วนใหญ่ก็จะทนได้และไม่ทำร้ายร่างกายของบุคลากร แต่ในทางกลับกันหากสถานพยาบาลเหล่านั้นเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย สภาวการณ์ที่ทนได้ก็จะกลายเป็นทนไม่ได้ เพราะเขาจะเกิดคำถามว่าเมื่อใดจะได้ตรวจ เมื่อใดจะได้รับการรักษา
สำหรับแนวทางการทำให้ความวุ่นวายหรือความมากมายของผู้เข้ามาใช้บริการลดลง ประการแรกคือวิธีการบังคับ ซึ่งเป็นวิธีการทางลบและแน่นอนว่าไม่มีใครชื่นชอบแต่มีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา โดย 1.ใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิม โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 47 วรรค 2 กำหนดไว้ว่าผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาฟรี เมื่อย้อนดูสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าคนที่เข้ามารักษาฟรีค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อพิจารณา พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 5 วรรค 2 ระบุว่า คณะกรรมการอาจจะให้มีการร่วมจ่าย นั่นหมายความว่าเมื่อมาแล้วต้องจ่ายเงิน ถามว่าคนมาแล้วไม่ฟรีจะอยากมาหรือไม่ ถ้าไม่อยากจ่ายก็ไม่มา ตรงนี้ทำได้จริงง่ายมากเพียงแค่ผ่านมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เท่านั้น
“แต่บอร์ด สปสช.ก็จะบอกว่าการจ่ายเงินเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจริงๆ แล้วการจ่ายเงินต่างหาคือการแสดงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นการแสดงถึงความรักพี่ตูน (บอดี้สแลม) เป็นการแสดงออกถึงความรักประเทศชาติที่ไม่ต้องมาจ่ายเงินมากมาย หากพี่ตูนเป็นอะไรไปผมจะเรียกร้องให้ สปสช.ไปวิ่งต่อ” นพ.โชติศักดิ์ กล่าว
2.ที่ผ่านมารัฐบาลมีการประกาศขึ้นทะเบียนคนจนซึ่งพบว่ามีตัวเลขเป็น 10 ล้านคน และน่าตกใจมากว่ามีปริญญาโท ปริญญาเอก ขณะที่ตัวเลขประชากรที่ใช้บริการบัตรทองกว่า 40 ล้านคน หากเอาตัวเลขมาลบกันก็จะเหลือกว่า 30 ล้านคน ซึ่งหากรัฐบาลซึ่งมีมาตรา 44 อยู่ในมือกล้าพอแล้วประกาศยกเลิก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ขณะเดียวกันก็ขยายสิทธิของคนจน จากเดิมที่ให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะฟรี และให้เงินติดกระเป๋า ก็ให้เพิ่มบริการรักษาฟรีเพื่อให้รองรับการยกเลิกกฎหมายบัตรทอง
นอกจากวิธีการบังคับแล้ว อีกหนึ่งวิธีการคือวิธีการสมัครใจซึ่งเป็นวิธีการทางบวกคือให้รางวัลเชิงบวกภายใต้แนวคิดไม่ป่วยจะจ่ายให้เท่าไร โดยจะแยกคนออกเป็น 2 กลุ่มโดยอาศัยภาษีเงินได้พึงประเมิน ซึ่งสรรพากรมีข้อมูลอยู่แล้ว จากนั้นให้กำหนดเลยว่าประชาชนแต่ละสิทธิสามารถเข้ารับบริการฟรีได้กี่ครั้ง หากครบปีแล้วใช้สิทธิไม่หมด ให้เอาสิทธิที่เหลือไปหักลดหย่อนภาษี หรือคืนเป็นเงินให้เลย โดยทั้ง 2 แนวทางนี้จะช่วยลดปัจจัยเร่งเร้าไม่ให้เกิดความรุนแรงได้
- 39 views