อาจารย์แพทย์ รามาฯ ถอดบทเรียนแนวทางจัดการความรุนแรงในโรงพยาบาลของต่างประเทศ ระบุ ผู้บริหารจำเป็นต้องลงทุนสร้างระบบรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เสนอ สธ.ประกาศวาระ zero tolerance เมื่อเกิดความรุนแรงกับบุคลากรต้องไม่จบแค่การขอโทษ โรงพยาบาลสหรัฐฯ ทดลองตั้งเครื่องจับโลหะในห้องฉุกเฉิน 6 เดือน พบคนปืน 33 ราย มีดอีกกว่า 1 พัน
พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา
พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางออก แก้ไข ป้องกันและแก้ปัญหา วิกฤต ความรุนแรงในโรงพยาบาล ER ในโรงเรียนแพทย์ และการจัดระเบียบ” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ความรุนแรง (violent) เป็นอันตรายอย่างหนึ่งของบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีทั้งการตบตีทำร้ายร่างกาย การใช้คำพูดด่าทอ หรือแม้แต่การโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนตัวคิดว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องประกาศจุดยืน zero tolerance เพื่อให้ผู้บริหารทุกระดับประกาศนโยบายลงไปสู่การปฏิบัติ เพราะเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงแล้วจบลงด้วยการเอากระเช้ามาขอโทษ ถือเป็นการบั่นทอนความรู้สึกบุคลากรเป็นอย่างมาก
พญ.ยุวเรศมคฐ์ กล่าวว่า หากต้องการป้องกันความรุนแรงจำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นจากการวิเคราะห์สถานที่ทำงาน เช่น วอร์ด ห้องฉุกเฉิน ว่ามีโอกาสเกิดปัจจัยเสี่ยงอะไรได้บ้าง เมื่อวิเคราะห์แล้วก็นำความเสี่ยงนี้ไปวางแผนปรับปรุงเพื่อให้เกิด Patient and Personnel Safety (2P Safety)
สำหรับวิธีการวิเคราะห์ของต่างประเทศมีหลากหลาย ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์หาสาเหตุราก หรือ Root cause analysis : RCA โดยมีทั้งสิ้น 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1.เมื่อเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ขึ้น ต้องเอาเรื่องราวกับช่วงเวลามาประกอบกัน เช่น เกิดเหตุอย่างไร เวลาเท่าไร 2.ย้อนกลับไปดูว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ คือหากย้อนไปแก้ไขจุดนี้ได้แล้วจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น 3.แน่นอนว่าไม่มีอะไรอยู่ในกล้องวงจรปิดทั้งหมด ฉะนั้นต้องย้อนกลับไปฟังบุคลากรที่อยู่หน้างาน 4.วิเคราะห์ระบบว่าจุดไหนคือช่องโหว่ เช่น ช่วงเวลานี้บุคลากรน้อย ไม่เพียงพอต่อการอธิบายคนไข้ ก็ต้องไปแก้ไข 5.คิดอย่างสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ยังมีหลักการที่เรียกว่า Bow Tie technic คือเวลาคิดค้นมาตรการจัดการความรุนแรงต่างๆ ต้องมองทั้งสองปีก คือ 1.มาตรการการป้องกัน ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย เช่น อบรมบุคลากร การพูดคุยกับคนไข้ต้องยืนอยู่ห่างเป็นระยะทางเท่าไร กี่องศา ต้องมองจุดไหน ฯลฯ 2.เมื่อเกิดเหตุแล้วต้องมีแผนในการ response คือเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงแล้วต้องมีมาตรการในการจัดการ ไม่ใช่จบลงด้วยการขอโทษเพียงอย่างเดียว
พญ.ยุวเรศมคฐ์ กล่าวว่า เมื่อเราทำ RCA เสร็จ ก็ต้องมาวิเคราะห์ดูว่าปัจจัยเชิงระบบอะไรบ้างที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเหตุความรุนแรง ซึ่งหลักการในการวิเคราะห์หลักๆ อาทิ 1.Organization องค์กรมีนโยบายอะไรหรือไม่ เช่น หลังเวลาราชการแล้วคนไข้จะไปกระจุกตัวอยู่ในห้องฉุกเฉิน ซึ่งมีผลการศึกษาระบุว่าห้องฉุกเฉินที่มีความแออัด และจุดที่มีพยาบาลน้อย จะเกิดความรุนแรงขึ้น ฉะนั้นต้องแก้ไขในจุดนี้ 2.Work Environment มีความปลอดภัยหรือไม่ 3.การศึกษาอบรมเพียงพอหรือไม่ เช่น เวลามีคนมาทำร้ายร่างกายเรา จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ หนึ่งคือกลุ่มที่ป่วยซึ่งจะมีความอดทนต่ำ หรือมีความคิดเลอะเลือนไป สองคือกลุ่มคนที่ตั้งใจจะมาก่ออาชญากรรม ตรงนี้เวลาคนที่เดินเข้ามาในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้และสามารถมองออก
พญ.ยุวเรศมคฐ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องการวางระบบรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในการทำงานนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องลงทุน และต้องมีนโยบายจากผู้บริหาร เช่น ในต่างประเทศมีกระจกกันกระสุน ถามว่าในวันนี้ประเทศไทยผู้บริหารพร้อมลงทุนตรงนี้แล้วหรือไม่ เพราะแน่นอนว่ามนุษย์มีข้อจำกัดต่างๆ เช่น คนตัวเล็กสู้คนตัวใหญ่ไม่ได้ คนมือเปล่าสู้คนมีอาวุธไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบเพื่อช่วยลดข้อจำกัดของมนุษย์
ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการวางหลักการในการออกแบบห้องฉุกเฉิน โดย 1.ต้องมีสัญญาณเตือน มีปุ่มกด มีสัญญาณของความช่วยเหลือฉุกเฉิน หรือมีระบบตรงไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2.มีเครื่องตรวจจับโลหะ โดยข้อมูลของโรงพยาบาลในดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา ภายหลังใช้เครื่องตรวจจับโลหะ 6 เดือน พบว่ามีผู้ที่พกปืนเข้ามาในห้องฉุกเฉิน 33 ราย พกมีด 1,324 ราย พกสเปย์ 97 ราย และคนอื่นๆ พบวัตถุอันตรายๆ เล็กๆ น้อยๆ จำนวนมาก และมีข้อมูลอีกว่าแพทย์ในห้องฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกาต้องพกปืนมาทำงาน
3.มีกระจกกันกระสุน 4.ติดตั้งกล้องวงจรปิด 5.จัดทำ safe room สำหรับบุคลากรทางการแพทย์วิ่งเข้าไปหลบเมื่อเกิดภัย 6.ห้อง time out เป็นห้องควบคุมคนไข้ที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรง 7.เฟอร์นิเจอร์ต้องน้อยและไม่มีความเสี่ยง
- 147 views