รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาดที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติรับข้อเสนอของไทยให้วันที่ 12 ธ.ค.ของทุกปีเป็น “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” (International UHC Day) ชี้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยถือเป็นจุดเด่นไม่แพ้การท่องเที่ยว-อาหาร ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากนานาชาติ สมควรที่คนไทยจะภูมิใจและช่วยกันสร้างการรับรู้ในวงกว้าง
นายดอน ปรมัตถ์วินัย
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปีนี้ ประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่ม Foreign Policy and Global Health Initiative หรือ FPGH (ประกอบด้วย 7 ประเทศ ได้แก่ บราซิล นอร์เวย์ ฝรั่งเศส เซเนกัล แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และ ไทย) ได้เสนอร่างข้อมติต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติให้ทุกวันที่ 12 ธ.ค.ของทุกปี เป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล (International UHC Day) โดยเชื่อว่าที่ประชุมจะรับข้อมติดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการรับรองถึงความสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและตอกย้ำถึงบทบาทของฝ่ายสาธารณสุขทั่วโลกไม่เฉพาะแค่เมืองไทยอย่างเดียว
นายดอน กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) ของไทย ถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของประเทศไม่แพ้เรื่องการท่องเที่ยว อาหาร มวยไทย ฯลฯ แต่การรับรู้อาจจะยังน้อย อาจจะเฉพาะในวงการสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งระบบนี้ไม่ใช่ว่าประเทศไหนก็ทำได้ ต้องมีความพร้อม ทั้งบุคลากร ความตั้งใจจริง มีงบประมาณระดับหนึ่ง และมีการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดเป็นจริง ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของไทยในการเผยแพร่จุดเด่นดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักในเวทีระหว่างประเทศว่าไทยที่เป็นประเทศระดับกลางของโลกก็ยังมีจุดเด่นทางด้านการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งชักชวนให้ประเทศต่างๆ เอาแบบอย่างที่ดีไปใช้ ซึ่งหากทำได้กว้างขวางขึ้นก็จะเป็นสิ่งที่ดีต่อประชาชนในประเทศนั้นๆ
ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผ่านมาของไทย ได้ร่วมสนับสนุนและเสนอข้อมติในเรื่อง UHC ให้ได้รับการรับรองในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ เช่น การประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 58 เมื่อปี 2548 และสมัยที่ 64 เมื่อปี 2554 ไทยได้ร่วมสนับสนุนข้อมติเรื่อง UHC เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการส่งเสริมเรื่องหลักประกันสุขภาพให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งในปี 2555 ไทยในฐานะสมาชิกกลุ่ม FPGH ยังร่วมกันจัดทำข้อมติเรื่อง UHC เพื่อผลักดันผ่านที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 67 ให้UHC เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติจัดทำ UHC ภายในประเทศตนให้สำเร็จในปี 2573
“เราได้เสนอในเวทีระหว่างประเทศให้มีข้อมติต่างๆ เพื่อสนับสนุนเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งเหล่านี้ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี หลายประเทศยังพูดกันอย่างชัดเจน ทางเลขาธิการสหประชาชาติก็รู้ถึงบทบาทนี้ของไทย หรือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก็เช่นกัน รวมทั้งท่านผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งคนก่อนและคนปัจจุบันก็รับรู้ถึงบทบาทนี้ของไทยเป็นอย่างดี ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อีกทั้งยังได้ไปกล่าวถ้อยแถลงในกิจกรรมคู่ขนานระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในเดือน ก.ย. 2558 ด้วย” นายดอน กล่าว
สำหรับการดำเนินการในขั้นต่อไป กระทรวงการต่างประเทศจะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดัน UHC อย่างเข้มข้น แข็งขันและยั่งยืนมากขึ้น ทั้งการถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินการของไทยในเวทีระหว่างประเทศและในภูมิภาคอาเซียน เพื่อช่วยให้ประเทศอื่นสามารถบรรลุ UHC ได้ ตลอดจนการส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของผู้โยกย้ายถิ่นด้วย เนื่องจาก 1 ใน 7 ของประชากรโลกเป็นผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และไทยก็มีระบบบริการสาธารณสุขแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่มีมาตรฐานและครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น การดูแลรักษาแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศเสมอเหมือนคนไทย การช่วยพัฒนาศักยภาพประเทศเพื่อนบ้านในการดูแลด้านสุขภาพ เป็นต้น
“แม้ว่านโยบายการให้บริการผู้โยกย้ายถิ่นอาจจะแตกต่างตามกลุ่มและสถานะ แต่ในความเป็นจริงโรงพยาบาลจะให้บริการกับผู้โยกย้ายถิ่นในทุกกรณีบนหลักการด้านมนุษยธรรมโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมายของคนเหล่านั้นซึ่งเป็นสิ่งที่หายากสำหรับภูมิภาคต่างๆทั่วโลก เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่พูดว่าเรามีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ความจริงไม่มี เรามีล้นเต็มเปี่ยมด้วยซ้ำ นี่คือข้อที่เป็นรูปธรรมที่สามารถบอกกล่าวได้ในทุกแห่ง” นายดอน กล่าว
นายดอน กล่าวทิ้งท้ายว่า ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ต้องยอมรับว่ามาจากทุกภาคส่วนที่ให้กำลังใจและสนับสนุนให้มีระบบเช่นนี้ แม้การดำเนินการจะไม่ใช่เงินจำนวนเล็กน้อย แต่รัฐบาลก็เห็นว่าคุ้มค่ามากว่าประชาชนทุกคนไม่ว่าจะแวดวงใดหรือยากดีมีจนแค่ไหนก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่ในด้านสุขภาพ เช่นเดียวกับการได้รับการยกย่องในด้านสาธารณสุขจากนานาประเทศก็ถือว่ามีค่ามาก เพราะเท่ากับยกย่องว่าไทยเป็นประเทศที่มีประชากรที่มีคุณภาพ คนที่มีคุณภาพเท่านั้นที่สามารถดูแลทุกข์สุขด้านสุขอนามัยต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นสมควรที่คนไทยจะภูมิใจในสิ่งที่รัฐบาลได้นำเสนอต่อโลกภายนอก และต้องช่วยกันพูดออกไปให้รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น
- 6 views