กรมอุทยานฯ รณรงค์คุมเข้มมือรับเทศกาลปีใหม่ ห้ามดื่มเหล้าในอุทยานฯ หวังหยุดผลกระทบที่เกิดจากน้ำเมา คืนความสุขให้นักท่องเที่ยว วอนพบเหตุแจ้ง 1362 ฝ่าฝืนโทษทั้งจำทั้งปรับ ด้านสสส.เชื่อมาตรการนี้ช่วยลดอุบัติเหตุเจ็บตายได้จริง
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และเครือข่ายลดอุบัติเหตุ แถลงข่าวรณรงค์ในแคมเปญ“ท่องเที่ยวสุขใจ ไม่นำเหล้าเข้าอุทยานฯ” ทั้งนี้มีการแสดงละครสั้น“เมื่อขาเมา นำเหล้าเข้าอุทยาน” จำลองสถานการณ์นักท่องเที่ยวและการปฏิบัติตามกฎหมาย จากนั้นรองอธิบดีและคณะร่วมเดินรณรงค์ แจกและติดสติกเกอร์กับพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนในตลาดภายในพื้นที่กรมฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่และเครือข่าย
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่ากรมอุทยานฯได้ออกประกาศกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 กำหนดห้ามมิให้นำเข้า หรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทในอุทยาน ฝ่าฝืนมีความผิดตาม พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 18 โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ให้เจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้นักท่องเที่ยว ปฏิบัติตามคำเตือนของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และวนอุทยาน ดีขึ้นเป็นลำดับ
“เทศกาลปีใหม่นี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาใช้บริการสถานที่ ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานเป็นจำนวนมาก บางครั้งพบว่ามีการลักลอบนำ สุราเข้ามาดื่ม ซึ่งปัญหาที่ตามมาไม่ใช่แค่เรื่อง การส่งเสียงดังประพฤติตนไม่เหมาะสม รบกวนธรรมชาติและสัตว์ป่า ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินด้วย และข้อสำคัญคือการ เคารพสิทธิของคนที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติที่ต้องการความสงบ อยากสัมผัสธรรมชาติที่แท้จริง การได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ โดยมีป้ายแจ้งเตือนชัดเจน มีการกำชับเจ้าหน้าที่ ตรงจุดจำหน่ายตั๋วให้แจ้งเตือน เชื่อว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจ และเคารพกฎกติกานี้ และ สามารถฝากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้กับจุดจำหน่ายตั๋วก่อนเข้าพื้นที่นั้นๆได้ด้วย ซึ่งถ้าหากตรวจ พบการลักลอบนำเหล้าเบียร์เข้าไป จะต้องถูกดำเนินการตามระเบียบ และกฎหมายที่กำหนด ขณะเดียวกันหากพบว่าเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยไม่เข้มงวดก็ถือว่ามีความผิดด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากผู้ใดพบเห็นการกระทำผิดในเรื่องนี้และเหตุอื่นๆในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและวน อุทยาน สามารถโทรมาที่สายด่วน 1362 ได้ตลอด24ชั่วโมง” นายปิ่นสักก์ กล่าว
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)กล่าวว่า ทาง ภาคีเครือข่ายและสสส. ได้สนับสนุนป้ายประชาสัมพันธ์ ห้ามนำเหล้าเบียร์เข้าอุทยาน ส่งไปยังอุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน เป็นป้ายไวนิล2,000 ผืนและป้ายพลาสติกถาวรอีกกว่า 5,000 แผ่น ดังนั้นอยากขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ให้ช่วยปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จากข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า 1ใน 3 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมดมีสุราเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่นี้ เนื่องจากมีพฤติกรรมดื่มหนัก ซึ่งมาตรการหนึ่งที่ใช้ได้ผลคือควบคุมการเข้าถึงสุรา ตลอดจนจำกัดสถานที่ขายหรือดื่มให้เหมาะสม เช่น การกำหนดห้ามนำเข้า ห้ามขายเหล้าของกรมอุทยาน
อย่างไรก็ตามเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวเมืองไทย เลือกที่จะเที่ยวแหล่งธรรมชาติและวัฒนธรรมไทย สำนักงานสถิติสำรวจว่า คนไทยมีเพียง 30% เท่านั้นที่ยังดื่ม และส่วนใหญ่ไม่ได้ติดสุรา แม้มีการห้ามไม่ให้ดื่มในอุทยาน ก็เชื่อว่าเขาจะสนับสนุนมาตรการนี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวปลอดภัย และได้ชื่นชมธรรมชาติโดยไม่มีเสียงดังรบกวน เคารพสิทธิของผู้อื่น เช่นเดียวกับหลายๆประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เช่น สกอตแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา และอาฟริกาใต้เป็นต้น ทั้งนี้ สคล.ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทุกจังหวัดพร้อมร่วมสนับสนุน เป็นหน่วยเฝ้าระวังและทำงานร่วมกันกับกรมอุทยานฯอย่างเต็มที่
ด้านนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผู้ใช้รถใช้ถนนควรระมัดระวังให้มากขณะเดินทางไปอุทยาน เนื่องจากเป็นเส้นทางเลาะเลี้ยวผ่านธรรมชาติ บางเส้นทางขึ้นเขา เพื่อให้เดินทางอย่างปลอดภัย ควรปฏิบัติ 3 ประการ คือ
1.ขับรถด้วยความระมัดระวัง งดใช้ความเร็ว ง่วงไม่ขับอย่างเด็ดขาด
2.หลีกเลี่ยงโดยสารรถที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะรถทัวร์ 2 ชั้น เพราะทางเข้าอุทยานส่วนใหญ่เป็นทางลาดชัน รถ 2 ชั้นจะทำให้พลิกคว่ำได้ง่าย และควรคาดเข็มขัดนิรภัยเพราะจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ถึง 34% หากจำเป็นต้องใช้รถกระบะ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งท้ายกระบะ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุจะเกิดลักษณะการเทกระจาด ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต หรือหากจำเป็นต้องขับขี่มอเตอร์ไซต์ ต้องสวมหมวกนิรภัย ช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ถึง 43% สำหรับผู้ขับขี่ และ 58% สำหรับผู้ซ้อนท้าย
3.งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งคนขับและผู้โดยสาร ปัจจุบันไม่ใช่แค่เมาแล้วขับเท่านั้นที่มีความผิด การดื่มบนรถขณะอยู่บนทาง อยู่บนถนนของผู้โดยสารก็มีความผิดด้วยเช่นกัน มีโทษทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากอุทยานต่างๆมีการคุมเข้มเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน ทั้งทางบก ทางทะเล ซึ่งรวมๆแล้วเกือบ 250 แห่งทั่วประเทศ จะยิ่งทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุลงไปได้
- 49 views