สปสช.ร่วม “ขับเคลื่อนแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา” เผย หลังรุกนโยบายส่งเสริมใช้ยาสมเหตุผล พบอัตราใช้ยาปฏิชีวนะลดลงราวร้อยละ 10 ทั้งกลุ่มผู้ป่วยท้องร่วงเฉียบพลัน ผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน พร้อมเดินหน้าเน้นสร้างความเข้าใจผู้เกี่ยวข้อง ช่วยเพิ่มประสิทธิผล ระบุมูลค่ายาปฏิชีวนะระบบบัตรทองราว 700 ล้านบาท หากลดอัตราการใช้เหลือร้อยละ 20 ช่วยประหยัดค่ายาได้กว่า 400 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย (A Call to Action Declaration on Antimicrobial Resistance, Thailand) ตามพันธกิจ “ประเทศไทยปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา” เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ที่ผ่านมา สปสช.ได้มุ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล และควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในโรงพยาบาล คลินิก และร้านยา โดยมีนโยบายการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ในการสร้างแรงจูงใจด้วยกลไกทางการเงินเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริการ ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินนโยบายส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช. ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและโอสถกรรมานุบาล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อศึกษา “ประสิทธิผลของนโยบายการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่อาศัยการจ่ายเงินตามเกณฑ์คุณภาพของผลงานบริการ” ต่อพฤติกรรมการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะ โดยเปรียบเทียบการสั่งใช้ยาปฏิชีวินะใน 2 กลุ่มโรคเป้าหมาย คือกลุ่มโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และกลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ในช่วงก่อนและหลังใช้นโยบายนี้ ในปีงบประมาณ 2555 และ 2557 ด้วยการวิเคราะห์ย้อนหลังโดยใช้ฐานข้อมูลใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ของ สปสช. เฉพาะข้อมูลผู้ป่วยนอก จากโรงพยาบาล 12 เขตบริการสุขภาพ จำนวน 912 แห่งทั่วประเทศ
ผลการศึกษาพบว่า การสั่งใช้ยาปฏิชีวนะภาพรวมในกลุ่มโรคอุจจาระเฉียบพลันลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะร้อยละ 48.57 เป็นร้อยละ 38.56 ของผู้ป่วยกลุ่มโรคอุจจาระเฉียบพลัน หรือลดลง ร้อยละ 10.01 หลังการดำเนินนโยบาย โดยในเขตบริการสุขภาพที่ 8 อุดรธานี มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคนี้ลดลงมากที่สุด คือจากร้อยละ 49.72 เป็น 33.71 ขณะที่ รพ.สังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคนี้ลดลงมากที่สุด คือ จากร้อยละ 47.16 เป็นร้อยละ 24.15
กลุ่มโรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน การสั่งใช้ยาปฏิชีวินะในภาพรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน จากร้อยละ 53.63 เป็นร้อยละ 44.82 ของผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หรือลดลงร้อยละ 8.81 หลังการดำเนินนโยบาย โดยเขตบริการสุขภาพที่ 8 อุดรธานี มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคนี้ลดลงมากที่สุด จากร้อยละ 56.16 เป็นร้อยละ 39.14 รพ.สังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคนี้ลดลงมากที่สุด จากร้อยละ 58.89 เป็นร้อยละ 47.24
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่านโยบายการส่งเสริมการใช้ยาปฎิชีวนะอย่างสมเหตุผลที่ สปสช.เข้าร่วมดำเนินการอยู่ในขณะนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม การสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะที่ร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วย มูลค่ายาที่ใช้อยู่ที่ 690 ล้านบาท/ปี หากลดอัตราการใช้ยาเหลือร้อยละ 40 จะช่วยลดค่ายาปฏิชีวนะได้ 138 ล้านบาท/ปี หากลดลงเหลือร้อยละ 30 จะลดค่าใช้จ่ายได้ 276 ล้านบาท/ปี และหากสามารถลดเหลือเพียงร้อยละ 20 จะลดค่ายาปฏิชีวนะได้ถึง 414 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายทางอ้อม อาทิ ค่าใช้จ่ายจากการนอนโรงพยาบาลนานขึ้นที่มีสาเหตุจากเชื้อดื้อยา อาการไม่พึงประสงค์ หรือการแพ้ยา เป็นต้น
“เชื้อดื้อยานับเป็นปัญหาที่ไม่เพียเพียงแต่สร้างความสูญเสียอย่างมากในระบบสุขภาพ แต่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมวงกว้าง ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น องค์การอนามัยโลกและประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ โดยปัญหาเชื้อดื้อยาครึ่งหนึ่งเกิดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย สปสช.ในฐานะหน่วยงานบริหารงบประมาณด้านค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขได้ดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายแห่งชาติด้านยา และร่วมแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การลดความสูญเสียด้านต่างๆ ที่มีสาเหตุจากเชื้อดื้อยาในอนาคต” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 79 views