แพทย์ รพ.สุราษฏ์ฯ ชี้ประเด็นความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอาคนที่มีความรู้น้อยที่สุดและยังเป็นคนหนุ่มสาวของโรงพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า ย้ำแก้ปัญหาการคุกคามต้องลดเคสที่ไม่ฉุกเฉินออกจากห้องฉุกเฉิน
นพ.จักรกฤช สุวรรณเทพ
นพ.จักรกฤช สุวรรณเทพ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สภาพปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาล ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ถ้าเราอยู่กับระบบสาธารณสุขมานานจะพบว่าความรุนแรงเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องไปถึงผู้บริหารหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือสังคมออนไลน์ ซึ่งขณะนี้คิดว่าในเชิงนโยบายทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือแพทยสภาคงดำเนินการอย่างแน่นอน ส่วนจะทำอย่างไรนั้นเป็นเรื่องรายละเอียด
นพ.จักรกฤช กล่าวว่า หากพูดถึงเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ซึ่งก็ไม่มั่นใจว่าอย่างโรงพยาบาลชุมชนจะมีกำลังหรือไม่ หรือการจ้าง รปภ.24 ชั่วโมงนั้น สธ.ควรจะการันตีให้โรงพยาบาลหรือไม่ ตรงนี้จำเป็นต้องมีความชัดเจนเชิงนโยบาย เพราะนั่นหมายถึงสวัสดิภาพของบุคลากรด้านอื่นๆ ที่ต้องอยู่เวร 24 ชั่วโมงด้วย
นพ.จักรกฤช กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการบริการอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่ก็ต้องพิจารณาต่อด้วย อย่างกรณีห้องฉุกเฉินถามว่าใครอยู่บ้าง ที่โรงพยาบาลสุราษฏร์มีแพทย์ Intern 2 คน นอกจากนั้นก็เป็น Extern และสตาฟท์ซึ่งก็เป็นการจ้าง Intern อีก ประเด็นก็คือเราเอาคนที่ประสบการณ์น้อยที่สุด และอยู่ในกลุ่มอายุเจนเนอเรชั่นที่อ่อนไหวที่สุดคือเจนวายทำงานในห้องฉุกเฉิน
“คือเราเอาคนที่ประสบการณ์น้อย หรือ Intern บางคนก็มีอีโก้ที่สูงมากเข้าไปอีก คำถามก็คือว่าแล้วสตาฟท์จริงๆ เราอยู่ที่ไหน เพราะระบบรักษาความปลอดภัยไม่มี สิ่งแวดล้อมสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง สตาฟท์ก็เป็นคนหนุ่มสาว ผมคิดว่ายังไงๆ ก็ระเบิด” นพ.จักรกฤช กล่าว
นพ.จักรกฤช กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างแรกก็คือต้องเอาเคสที่ไม่ฉุกเฉินออกจากห้องฉุกเฉินก่อน ซึ่งเรื่องนี้ต้องไม่ใช่เพียงแค่นโยบายของโรงพยาบาล แต่ทาง สธ.เอง หรือแม้แต่แพทยสภา ต้องออกมาเป็นผู้สื่อสารโดยตรงกับสาธารณชนให้เข้าใจตรงกันว่าห้องฉุกเฉินจะไม่ดูแลคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน และเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลในการจัดบริการเพื่อรองรับคนไข้ที่เหลือ
นอกจากนี้ สิ่งที่จำเป็นคือระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งเชิงโครงสร้าง เชิงบุคลากร สถานที่ต่างๆ โดยต้องมีการันตีให้กับโรงพยาบาล 24 ชั่วโมง จากนั้นคือการบริการจัดการบุคลากรในห้องฉุกเฉิน ทั้ง Intern สตาฟท์ รวมถึงที่ปรึกษาทั้งหลาย
- 236 views