หมอถาวร เผย บริหาร รพ.สุขสำราญ 8 ปี เน้นนโยบายรัดเข็มขัด เหตุจัดบริการพิเศษเพิ่มรายได้ทำได้ยาก อยู่ในพื้นที่กันดาร ทั้งไม่มีมีแหล่งท่องเที่ยว ระบุ รพ.ดูแลประชากร 1.2 หมื่นคน ได้รับงบบัตรทอง 17 ล้านบาท/ปี ปลายปีขาดสภาพคล่องระดับ 6 เม็ดเงินไม่เพียงพอ เสนอจัดงบพิเศษดูแล รพ.ประชากรน้อย เช่นในอดีต พร้อมขอบคุณ “หมอปิยะสกล” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม แนะดึงชุมชนมีส่วนร่วม ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ดูแล รพ.
นพ.ถาวร สาลี ผู้อำนวยการ รพ.สุขสำราญ จ.ระนอง กล่าวว่า รพ.สุขสำราญ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม รพ.ที่ได้รับงบประมาณน้อยโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูสถานการณ์และการบริหารจัดการ โดย รพ.สุขสำราญ เป็นโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขนาด 10 เตียง ตั้งอยู่พื้นที่ห่างไกลที่สุด ห่างจากตัวเมืองจังหวัดถึง 92 ก.ม.จัดเป็น รพ.ทุรกันดารระดับ 1 ทั้งยังมีจำนวนประชากรเพียง 12,000 คน ส่งผลให้งบประมาณที่ได้รับจากงบค่าเหมาจ่ายรายหัว กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ น้อยตามไปด้วย อยู่ที่ประมาณ 16-17 ล้านบาทต่อปี จัดเป็นรายได้หลักของ รพ. ประมาณ 80% ของรายได้ รพ.ทั้งหมด ที่เหลือ 20% เป็นรายได้จากการดูแลผู้ป่วยสิทธิกองทุนรักษาพยาบาลอื่นๆ อาทิ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่ง รพ.มีผู้ป่วยนอกรวมทุกแผนกเฉลี่ย 120 คนต่อวัน ผู้ป่วยในเฉลี่ย 2-3 รายต่อวัน
ทั้งนี้ด้วยงบประมาณที่จำกัด ในการบริหาร รพ. ที่ผ่านมาจึงเน้นความประหยัด ต้องรัดเข็มขัดมากที่สุด เพื่อให้งบประมาณเพียงพอในการบริหาร รพ.ตลอดปี ซึ่งสถานการณ์การเงิน รพ. ในช่วงเริ่มต้นงบประมาณ รพ.จะมีสภาพคล่องที่ดี อยู่ในระดับ 0 เนื่องจากเป็นช่วงที่พึ่งได้รับการโอนงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงปลายปี เนื่องจาก รพ.มีแต่รายจ่ายออกไป ไม่มีงบประมาณโอนเข้ามา รายได้อื่นก็น้อยมาก ทำให้สภาพคล่องลงไปอยู่ถึงระดับ 6 แต่ไม่ถึงขาดสภาพคล่องวิกฤตระดับ 7 ที่เป็นสถานการณ์ในช่วง 8 ปีที่แล้ว
สำหรับการหารายได้อื่นๆ เพิ่มเติมให้กับ รพ.นั้น นพ.ถาวร กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะด้วยเป็น รพ.ที่ตั้งอยู่พื้นที่ชนบทห่างไกล การจะทำห้องพิเศษหรือบริการสุขภาพพิเศษอื่นๆ คงทำได้ยาก ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวต่างๆ ก็ไม่มี ทำให้ไม่มีช่องทางหารายได้เพิ่มได้ ดังนั้นการบริหาร รพ.จึงต้องมีการวางแผนที่ดี เพื่อควบคุมและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง โดยภาพรวมบุคลากร รพ.อยู่ที่ประมาณ 80 คน ในจำนวนนี้ 30 คน เป็นข้าราชการ 10 คนเป็นลูกจ้างประจำและพนักงานราชการทั้ง 2 กลุ่มได้รับเงินเดือนจาก สธ. แต่ที่เหลืออีก 40 คน เป็นลูกจ้างที่ รพ.ต้องจ่ายเงินเดือนเอง ทั้งนี้รวมถึงค่าตอบแทนฉบับ 11 อีกที่ยังติดค้างอยู่ รพ.ยังจ่ายไม่หมด คงต้องรองบประมาณใหม่ และด้วย รพ.อยู่ในพื้นที่กันดาร ทำให้มีอัตราเบื้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่มากกว่าปกติ
“งบ 17 ล้านบาท ถามว่าเพียงพอหรือไม่ คงต้องรัดเข็มขัดมากที่สุด ช่วยกันประหยัดอย่างเต็มที่ ทั้งการใช้สาธารณูปโภคต่างๆ ทั้ง ค่าน้ำ ค่าไฟ และเรียกเก็บเงินจากกองทุนรักษาพยาบาลอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีรายได้เข้ามามากที่สุด นอกจากนี้ยังเน้นการใช้ยาอย่างเหมาะสม ทั้งการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ การจ่ายยาให้ผู้ป่วยในจำนวนที่พอดีกับวันนัดตรวจ ซึ่งในระยะยาวเรายังคงต้องใช้วิธีนี้เพราะการหารายได้ รพ.เพิ่มนั้นทำได้ยาก” ผอ.รพ.สุขสำราญ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่า รพ.จะมีปัญหาขาดสภาพคล่องทุกปีและยังไม่มีช่องทางหารายได้เพิ่มเพื่อแก้ปัญหาง แต่ด้วยเป็นคนในพื้นที่จึงอยากพัฒนาบ้านเกิดให้มีบริการสุขภาพที่ดี ทำให้ไม่คิดขอย้ายออกไปไหน ซึ่งจากตำแหน่งรักษาการ ผอ.รพ.ในปี 2553 จนถึงวันนี้ได้บริหาร รพ.สุขสำราญมา 8 ปีแล้ว
นพ.ถาวร กล่าวต่อว่า ส่วนอาคารและอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้น ปัจจุบัน รพ.มีเพียงอาคารผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ยังขาดแคลนอาคารบริการหลายส่วน ทั้งบริการเวชศาสตร์ครอบครัว อาคารซักฟอก รวมทั้งการเชื่อมทางเดิน ซึ่งในการก่อสร้าง ซ่อมแซม และจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ทดแทน คงต้องอาศัยงบประมาณเพิ่มเติมระดับเขต และประมาณจาก สธ. ซึ่งก่อนหน้านี้จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม รพ.โดย นพ.โสภณ เมฆธน อดีตปลัด สธ. ได้เคยนำเรื่องขอก่อสร้างอาคาร รพ.สุขสำราญเข้าสู่ที่ประชุม สธ. แต่ก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบ
ต่อข้อซักถามว่า ควรมีแนวทางในการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวให้กับ รพ.ที่มีประชากรน้อยอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง นพ.ถาวร กล่าวว่า ควรมีงบประมาณพิเศษสำหรับกลุ่ม รพ.ที่มีประชากรน้อย ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่แล้ว สปสช.เคยมีการจัดสรรเงินพิเศษให้กับ รพ.ที่มีประชากรเบาบาง ไม่เพียงแต่ทำให้ รพ.อยู่ได้ แต่ยังมีงบเพื่อซ่อมแซมและซื้ออุปกรณ์ทางการแทพย์เพื่อทดแทนที่ชำรุดไปได้บ้าง แต่ช่วงหลังมีการปรับอีกทำให้ รพ.ได้รับงบน้อยลงกว่าเดิม จากเมื่อก่อน รพ.เคยได้รับจัดสรร 20 ล้าน ลดลงเหลือ 17 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา รมว.สาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ได้แนะแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร นพ.ถาวร กล่าวว่า คงต้องต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี และทีมที่ปรึกษาฯ ที่ลงมาตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหา พร้อมให้กำลังใจ ทั้งนี้ยังมอบนโยบายที่เป็นประโยชน์เพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เพื่อให้พึ่งตนเองได้ เพิ่มการมีส่วนร่วมจากชุมชนให้มากขึ้น เพื่อช่วยกันพัฒนาโรงพยาบาลให้เป็นมากกว่าโรงพยาบาล และนโยบายโรงพยาบาลสะอาดและสิ่งแวดล้อมดี Green and Clean Hospital ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลเราจะเก่าแค่ไหน จะต้องมีความสะอาดอยู่
- 162 views