รพ.ชลบุรี ติดตั้งประตูตรวจโลหะ-วางระบบเซ็นเซอร์ ลดความรุนแรงในโรงพยาบาล แพทย์ถอดบทเรียน จำเป็นต้องมี รปภ. 24 ชั่วโมง ปรับวิธีการสื่อสาร เปิดคลินิกนอกเวลาลดความแออัดห้องฉุกเฉิน
นพ.คุณากร วงศ์ทิมารัตน์ โรงพยาบาลชลบุรี กล่าวในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สภาพปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาล ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า โรงพยาบาลมีการจัดทำโครงสร้างการป้องกันความปลอดภัยของบุคลากร โดยเริ่มต้นจากปัญหาผู้ป่วยจิตเวชซึ่งมีพฤติกรรมวุ่นวายก้าวร้าวในห้องฉุกเฉิน เดิมใช้วิธีการตามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) เป็นครั้งๆ จากนั้นจึงเริ่มจัดให้มี รปภ.ประจำห้องฉุกเฉินทุกวัน
นพ.คุณากร กล่าวว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้จัดทำประตูดักจับโลหะหน้าห้องฉุกเฉิน มีระบบเซ็นเซอร์อัตโนมัติ หลักการคือเมื่อคนที่จะเข้ามาในนี้ต้องผ่านประตูก่อน ถ้าเครื่องดังเจ้าหน้าที่ รปภ.ก็จะเข้ามาตรวจอีกครั้ง ที่สำคัญก็คือ รปภ.จะช่วยคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปในห้องฉุกเฉินอย่างเข้มงวด ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือได้รับการประกาศเรียกจากห้องฉุกเฉินเท่านั้น
นพ.คุณากร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามยังมีข้อกัลว่าระบบดังกล่าวอาจทำให้เกิดความล่าช้า หรือหากประตูเสียแล้วจะส่งผลกระทบต่อคนไข้หรือไม่ ซึ่งโรงพยาบาลก็ได้แก้ปัญหาด้วยการจัดทำประตูอีกฝั่งหนึ่งของห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นประตูฟาสแทร็กสำหรับผู้ป่วยสีแดงเท่านั้น โดยพนักงานเปลจะได้รับการ์ดที่ใช้ผ่านประตูอัตโนมัติ แตกต่างจากอดีตที่ประตูจะเปิดเข้าออกได้ตลอดเวลา ซึ่งทั้งหมดนี้คือการปรับโครงสร้างระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล
“บางทีคนไข้ไม่เยอะแต่ญาติเต็มไปหมดเลย การมีประตูกั้นแบบนี้ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น ญาติจะไม่เข้ามาวุ่นวาย แต่เราก็ได้จัดทำห้องไว้ข้างๆ เพื่อรับรองญาติด้วย หรือแม้แต่ตัวคนไข้ในห้องฉุกเฉินเอง บางรายก็อยู่ในสภาพที่ไม่น่าดู ตรงนี้ก็ถือเป็นการปกป้องสิทธิคนไข้ที่ไม่ให้คนอื่นเข้ามาเห็นสภาพของเขา” นพ.คุณากร กล่าว
นพ.คุณากร กล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยแล้ว สิงที่โรงพยาบาลชลบุรีต้องปรับก็คือการสื่อสารกับคนไข้และญาติผู้ป่วย เช่น คนไข้ต้องรออะไร เมื่อตรวจเสร็จแล้วต้องทำอะไรต่อ เพื่อทำให้เขาสบายใจและสามารถนั่งรอได้ ปัญหาที่ผ่านมาคือญาติไม่ทราบว่าเขาต้องรออะไร ไม่มีเป้าหมาย ไม่รู้ว่าต้องรอไปถึงเมื่อไร สุดท้ายแล้วก็เกิดอารมณ์และเกิดความรุนแรงขึ้น
นพ.คุณากร กล่าวต่อไปว่า ความปลอดภัยในบุคลากรไม่ใช่เฉพาะในห้องฉุกเฉิน แต่เกิดได้ทุกๆ ส่วนของโรงพยาบาล เช่น เคยเจอเคสในตึกเด็ก คือญาติไม่พอใจเรื่องจะให้หรือไม่ให้เด็กแอดมิด ญาติจึงเอาขวานมาขู่แพทย์ แต่ที่โรงพยาบาลมี รปภ.ประจำตึกเด็ก 24 ชั่วโมง รปภ.สามารถเข้ามาระงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว โดย รปภ.ของโรงพยาบาลจะใส่เครื่องแบบสีกากี ซึ่งจะทำให้คนไข้รู้สึกเกรงใจมากขึ้นในระดับหนึ่ง
“ส่วนใหญ่เคสที่มีปัญหาคือเคสที่ไม่เร่งด่วนแต่ต้องรอการตรวจรักษานาน ซึ่งทางโรงพยาบาลชลบุรีได้แก้ปัญหาด้วยการเปิดแผนกผู้ป่วยนอกเป็นคลินิกนอกเวลาถึงเที่ยงคืน และมีระบบคัดกรองความเร่งด่วนของการรักษาด้วย ซึ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้บุคลากรและงบประมาณสูง จึงขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร” นพ.คุณากร กล่าว
นพ.คุณากร กล่าวต่อว่า เดิมมีผู้ป่วยใช้ห้องฉุกเฉินประมาณปีละ 8 หมื่นราย แต่พอเปิดคลินิกนอกเวลาทำให้เหลือคนไข้ที่ฉุกเฉินจริงๆ ประมาณ 5.2 หมื่นราย อีกร่วมๆ 3 หมื่นรายคือคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน และได้รับการตรวจในคลินิกนอกเวลา
- 452 views