โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา นำร่องโมบายแอปคัดกรองโรคเรื้อรัง พร้อมเชื่อมโยงข้อมูล รพ.สต. ลดบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ณ อ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พญ.กิติมา เศรษฐ์บุญสร้าง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดศรีสะเกษ ได้เยี่ยมให้กำลังใจและรับฟังปัญหาในการดำเนินงานของเครือข่ายบริการสุขภาพ โครงการเยี่ยมเสริมพลังเครือข่ายสุขภาพเบญจลักษ์ ใน ณ รพ.สต.ท่าคล้อ/สุขศาลาบ้านหนองยาว ต.ท่าคล้อ และสุขศาลาบ้านโนนคูณน้อย ต.หนองหว้า
พญ.กิติมา กล่าวว่า อ.เบญจลักษ์เป็นอำเภอหนึ่งของ จ.ศรีสะเกษ มีจำนวนประชากรประมาณ 37,000 คน ประกอบด้วยเครือข่าย 5 ตำบล 67 หมู่บ้าน ภาพรวมถือว่าภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพมีความเข้มแข็ง ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติอย่างต่อเนื่อง แต่ประสบปัญหาในการสำรวจข้อมูลสาธารณสุข เช่น การคัดกรองโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ที่ใช้แบบฟอร์มรูปแบบกระดาษทำให้ลงข้อมูลซ้ำซ้อน โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่คัดกรองผู้มีความเสี่ยงด้วยแบบสำรวจกระดาษ มาลงข้อมูลในระบบเก็บข้อมูล แล้วจึงนำข้อมูลนั้นมาลงในระบบสารสนเทศโรงพยาบาลอีกรอบหนึ่ง
พญ.กิติมา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ประเด็นการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจาก รพ.สต.มายังโรงพยาบาลฯ ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อเนื่องในการดูแลคนไข้ให้มีคุณภาพดีมากขึ้น เพราะเมื่อคนไข้มายังหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน เช่น รพ.สต. เพื่อมารับยาโรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงการวัดความดันโลหิต ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการเจาะปลายนิ้ว ข้อมูลการตรวจและรับยาดังกล่าวยังไม่สามารถส่งไปถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือ โรงพยาบาลประจำจังหวัดได้ การศึกษาวิธีการเชื่อมโยงข้อมูลและทำการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวอย่างเหมาะสม จะช่วยให้แพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขได้ติดตามผลการรักษาได้ต่อเนื่องมากขึ้น
พญ.กิติมา กล่าวว่า จากนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลรวมถึงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงได้ริเริ่มนำเอาโมบายแอปพลิเคชั่น SmartHealthCare ที่ตนเองได้มีส่วนพัฒนามานำร่องใช้งานได้ฟรี ในการบันทึกข้อมูลการคัดกรองโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เพื่อให้ อสม.ได้บันทึกข้อมูลได้สะดวกในพื้นที่ และข้อมูลจะส่งเข้าระบบและเชื่อมโยงออกรายงานได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงการศึกษาการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบสารสนเทศของ รพ.สต.เข้ากับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล โดยอ้างอิง LOINC (Logical Observation Identifiers Names and Codes) เป็นระบบชื่อและรหัสมาตรฐานสากลที่ใช้ระบุชนิดของการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (medical laboratory) และการตรวจทางคลินิก (clinical observation) เพื่อรองรับการส่งต่อข้อมูล ซึ่งจะสามารถเพิ่มความต่อเนื่องในการติดตามข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“คาดว่าจะสามารถอบรม อสม.ให้ใช้งานระบบได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ จะสามารถลดเวลาในการประมวลผลและลดค่าใช้จ่ายได้มาก โดยระบบแอปพลิเคชั่นรองรับแอนดรอยด์และไอโอเอส” พญ.กิติมา กล่าว
นายประดิษฐ์ ธรรมคง ผู้อำนวยการ รพ.สต.ท่าคล้อ ได้แสดงความคิดเห็นโดยกล่าวขอบคุณที่คณะทำงานได้นำนวัตกรรมแอปพลิเคชั่น Smart Health Care เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพ ให้แก่ เจ้าหน้าที่และ อสม.เพื่อลดรายงาน และสะดวกในการดูแลสุขภาพ
นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น SmartHealthCare กล่าวว่า SmartHealthCare เป็นแอปพลิเคชั่นสุขภาพบุคคลหรือ Personal Health Record ที่ตนยินดีสนับสนุนให้เครือข่าย อสม.และโรงพยาบาลทั้งในระดับตำบล อำเภอ หรือระดับจังหวัดนำแอปพลิเคชั่นไปใช้ในการเก็บข้อมูล ซึ่งโรงพยาบาลรัฐใดสนใจนำไปใช้สามารถติดต่อเพื่อใช้งานได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยระบบโมบายแอปสามารถใช้สำรวจข้อมูลภาคสนามได้หลายพารามิเตอร์ และโรงพยาบาลสามารถออกรายงานทะเบียนการตรวจได้ในหลายรูปแบบ
ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อนำแอปพลิเคชั่นไปใช้งานได้ที่ phongchaip@smarthealthcare.in.th
แอปพลิเคชั่นสามารถดาวน์โหลด
ในระบบไอโอเอสที่ https://itunes.apple.com/th/app/smarthealthcare/id1118758989?mt=8
ในระบบแอนดรอยด์ที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=trecons.com.mui.smarthealth
ภาพโดย นายประชุม วราพุฒ
- 127 views