กระทรวงสาธารณสุข ติดตามการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2560 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) โดยเขตสุขภาพที่ 12 ผลงานอนามัยแม่และเด็กแนวโน้มดีขึ้น อัตรามารดาเสียชีวิตลดลง ใช้แผนยุทธศาสตร์พัฒนาสุขภาพที่สอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรม และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามบริบทพื้นที่

นพ.โสภณ เมฆธน

วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2560) ที่ รพ.สตูล จ.สตูล นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.เจษฎา ฉายคุณรัฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 12 และ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต รับฟังผลการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) ปี 2560 และทิศทางการขับเคลื่อนงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของเขตสุขภาพที่ 12 ประกอบด้วย จังหวัดสตูล ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน และการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่

นพ.โสภณ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ ใกล้บ้าน ใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่า บรรลุเป้าหมาย ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน ได้มอบหมายผู้บริหารระดับสูง ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ฯ ของปีงบประมาณ 2560 และทิศทางการขับเคลื่อนงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ในปีงบประมาณ 2561 ของทุกเขตสุขภาพ

สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งเป็นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชาชนต่างวัฒนธรรมอาศัยอยู่ร่วมกัน จากการติดตามพบว่า มีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสุขภาพที่สอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรม เน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและการทำงานของทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ

1.พัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

2.ส่งเสริมและป้องกันปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในพื้นที่ขังหวัดชายแดนภาคใต้

3.ส่งเสริมเครือข่ายในการมีส่วนร่วมบูรณาการการจัดการระบบสุขภาพ

และ 4.พัฒนาระบบบริหารจัดการและสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรสาธารณสุขภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2560 พบว่างานอนามัยแม่และเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยอัตรามารดาตายลดลงจาก 45.26 ในปี 2559 เหลือ 35.94 ต่อการเกิดมีชีพ100,000 คนอัตราฟันดีไม่ผุในเด็กอายุ 12 ปี ร้อย 55.5 สูงกว่าเป้าหมายที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 52ยังคงพบปัญหาเด็กมีพัฒนาการไม่สมวัย ความครอบคลุมของวัคซีนพื้นฐานในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและตามบริบทของพื้นที่ ภายใต้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน นำไปสู่การพัฒนาอนามัยแม่และเด็ก และลดโรคประจำถิ่น เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย เท้าช้าง

ทั้งนี้ คำรับรองการปฏิบัติราชการของเขตสุขภาพในปี 2561 มีทั้งสิ้น 15 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอ (พชอ.) ที่มีคุณภาพ

2.คลินิกหมอครอบครัวที่เปิดดําเนินการในพื้นที่ (Primary Care Cluster)

3.อัตราความสําเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่

4.หน่วยงานที่มีการนําดัชนีความสุขของคนทํางาน (Happinometer) ไปใช้

5.อัตราการคงอยู่ของบุคลากรสาธารณสุข

6.หน่วยบริการที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน

7.จังหวัดมีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) และทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) ที่สามารถปฏิบัติงานได้จริง

8.โรงพยาบาลที่พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ตามเกณฑ์ GREEN&CLEAN Hospital

9.โรงพยาบาลที่ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (RDU)

10.ร้อยละของจํานวนผู้ป่วยที่ได้รับวินิจฉัยตาม 12 โรคหัตถการ ได้รับบริการแบบ One Day Surgery

11.อัตราการเสียชีวิตของผู้เจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินภายใน 24 ชั่วโมงในโรงพยาบาล

12.จํานวนเมืองสมุนไพร

13.ระดับความสําเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

14.โรงพยาบาลผ่านการรับรอง HA ขั้น 3

และ 15.รพ.สต. ผ่านเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพ รพ.สต.ติดดาว