ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ถอดบทเรียน 20 ปี ช่วยเหลือผู้ป่วย ระบุ เข้าใจปัญหาดี แต่ สธ.ไม่เคยเปิดโอกาสให้คนไข้ร่วมแก้ไข ยืนยันไม่ต้องการเป็นศัตรูกับแพทย์
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวในเวทีเสวนา หัวข้อปัญหาหรือโอกาส : จากข้อมูลสะท้อนกลับสู่การพัฒนาความปลอดภัยบริการ (2 P Safety Goals) ซึ่งอยู่ภายในงานการสัมมนาเครือข่ายคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการ ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2560 ตอนหนึ่งว่า ที่จริงแล้วประชาชนอยากทำงานร่วมกับแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอยืนยันว่าประชาชนไม่อยากสู้กับแพทย์ แต่ที่ผ่านมาพอเกิดเครือข่ายผู้เสียหายฯ ขึ้นมากลับถูกแพทย์ให้ร้ายว่าเราหากินกับคนไข้ ขอยืนยันว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยรับเงินจากคนไข้หรือผู้เสียหายฯ แม้แต่สลึงเดียว ส่วนตัวอยากเห็นผู้บริหาร สธ.เปิดใจ และเรียกตนเองไปคุยด้วย เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว
“ดิฉันทำจดหมายถึงแพทยสภาหลายครั้งว่า พอจะมีทางไหนที่จะสามารถทำงานร่วมกันกับผู้ป่วยได้บ้างไหม คือถ้าผู้ใหญ่ไม่เปิดใจก็คงแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ เวลาผู้เสียหายมาร้องเรียนกับดิฉัน ดิฉันก็จะแนะนำช่องทางเจรจาก่อน แต่บางครั้งในทางปฏิบัติมันไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎี เพราะมันดิ้นไปตามความรู้สึกของคน ฉะนั้นหากต้องการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ ผู้บริหาร สธ.ต้องเปิดใจ และทำงานร่วมกับผู้ป่วย ควรฟังเราให้มากขึ้น ไม่ใช่ให้เราฟังท่านให้มากขึ้น เพราะเราเป็นคนเจ็บปวด และเราก็หวังพึ่งราชการ” นางปรียนันท์ กล่าว
นางปรียนันท์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวอยากเลิกเครือข่ายผู้เสียหายฯ ทุกวัน และก็ไม่ได้ต้องการตั้งเครือข่ายขึ้นมาเพื่อเป็นศัตรูกับวงการแพทย์ แต่ในแต่ละประเด็นที่พูดเพราะอยากให้ผู้ใหญ่ใน สธ.ได้ยิน และนำไปแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ซ้ำขึ้นอีกในอนาคต
นางปรียนันท์ กล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบันระบบยังไปไม่ถึงแต่เชื่อว่าทุกอย่างต้องมีพัฒนาการ เห็นได้จากอดีตตนเองก็เป็นแค่คนไข้ตัวเล็กๆ แต่วันนี้ก็พัฒนามาจนถึงเป็นผู้เสนอนโยบายทางเลือกให้ สธ. แต่ประเด็นอยู่ที่ตนเองคงไม่สามารถกลับไปลบภาพในอดีตได้ แน่นอนที่ผ่านมาเคยไปถือป้ายประท้วง หรือเคยไปเหยียบหัวแม่เท้าผู้ใหญ่ ซึ่งแน่นอนผู้ใหญ่ย่อมไม่ชอบ และผู้ใหญ่เหล่านั้นก็ยังอยู่ ดังนั้นต่อให้เราพูดอะไรถูกต้องมากแค่ไหน สุดท้ายมันก็แก้ไม่ได้
“ดิฉันคงแก้อดีตไม่ได้ แต่มองว่าสังคมนี้จะช่วยกันแก้ได้อย่างไร ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ผู้เสียหายเข้าถึงสื่อได้ด้วยตัวเอง เพจดังๆ มีทนายรองรับ จะพบว่าทุกวันนี้เคสมาที่เครือข่ายฯ น้อยลง แต่เข้าถึงทนายและกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น การฟ้องร้องจึงไม่ได้มาจากเครือข่ายฯ เพียงอย่างเดียว” นางปรียนันท์ กล่าว
ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ส่วนตัวนอนกับปัญหามา 20 ปี ได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนไข้ที่เป็นทุกข์ในทุกๆ วัน ยืนยันว่าควรเปิดใจรับฟังกัน เพียงแค่โน้มตัวลงมาหากันปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ทันที เพราะจากประสบการณ์การทำงานสามารถนำข้อมูลมาให้ สธ.ได้ทันทีว่าตรงไหนมีปัญหา และปัญหาส่วนนี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างไร
“ถามว่าช่วงแผลสด หรือช่วงที่ผู้ป่วยได้รับความเสียหายใหม่ๆ สธ.จะสามารถเข้าถึงคนไข้ได้หรือ เขาไม่ฟังหรอก แต่เขาฟังดิฉัน เขาฟังเพื่อนของเขาที่เขาไว้วางใจ ฉะนั้นถ้าผู้ใหญ่เห็นว่าจะใช้ประโยชน์จากดิฉันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร ดิฉันยินดี” นางปรียนันท์ กล่าว
- 156 views