เทศบาลเมืองแก่งคอยจับมือ รพ.แก่งคอย จ.สระบุรี ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่บ้านและชุมชน สปสช.ยกเป็นต้นแบบขับเคลื่อนกองทุน LTC หรือกองทุนดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่ประสบความสำเร็จ ชี้ชุมชนจะช่วยกันดูแลได้ต้องอาศัย อปท.ในการดูแล เป็นแบบอย่างการดำเนินงานเพื่อขยายไปจังหวัดอื่นต่อไป
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ สปสช.ได้รับมอบจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการเชิงรุกจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่บ้านและชุมชน ร่วมกับ อปท. ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 โดย สปสช.เน้นทำงานร่วมกับ อปท.และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ โดย Long Term Care : LTC ทำมาแล้ว 3 ปี แต่ อปท.เข้าร่วมกว่า 4,000 แห่งเท่านั้น ความร่วมมือกองทุนสุขภาพตำบลเป็นถือเป็นมิติทางสังคมที่เกิดขึ้นยากต้องใช้เวลา รวมทั้งต้องการบุคลากร ที่ผ่านการฝึกฝนอบรม เช่น แคร์กิฟเวอร์ แคร์แมนเนอเจอร์ และต้องมีเครือข่ายหมอครอบครัว
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า จังหวัดสระบุรีถือเป็นต้นแบบหนึ่งในการขับเคลื่อนกองทุน LTC หรือกองทุนดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่ประสบความสำเร็จ มีการดำเนินงานผ่านกลไกคณะทำงานเพื่อเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินงานกองทุน LTC ได้อย่างมีประสิทธิผล เช่นที่ รพ.แก่งคอย นับเป็นต้นแบบที่ดีแห่งหนึ่ง การจะให้มีท้องถิ่นมาร่วมครบทั้งประเทศต้องค่อยเป็นค่อยไป เชื่อว่าชุมชนจะช่วยกันดูแลได้ต้องอาศัย อปท.ในการดูแล จึงนับเป็นแบบอย่างการดำเนินงานเพื่อขยายไปจังหวัดอื่นต่อไป
นพ.กิตติคุณ จันทนะศิริ รอง ผอ.รพ.แก่งคอย กล่าวว่า ระบบดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงจะมีทีมสหวิชาชีพซึ่งประกอบด้วยแพทย์/พยาบาล/เภสัช /กายภาพบำบัด ฯลฯ โดยทีมจะลงเยี่ยมบ้านเดือนละครั้ง ซึ่งที่นี่จัดลงเยี่ยมบ้านทุกวันพุธที่สองของเดือน เน้นดูแลสุขภาพของคนไข้ติดบ้าน ติดเตียง ซึ่งมีคนไข้ทั้งเป็นแผลกดทับ คนไข้ต้องมีการใส่สายสวนสองครั้งต่อเดือน ขณะที่ทีมนักกายภาพบำบัดเข้าไปดูแลได้บ่อยครั้งมากขึ้น โดยกระบวนการดูแลเช่นนี้ทำให้ลดจำนวนผู้ป่วยติดเตียงลงได้ และลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ต้องไป รพ.ขนาดใหญ่ลงได้
นายนคร แทนโสภา
นายนคร แทนโสภา ปลัดเทศบาล รักษาการนายกเทศมนตรีเมืองแก่งคอย กล่าวว่า พื้นที่แก่งคอยมีผู้สูงอายุมากขึ้นและต้องมีดูแลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเสื่อมของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายังจัดการได้ไม่ดีนัก ต่อมาเมื่อปี 2559 เทศบาลเมืองแก่งคอยได้ร่วมกับ รพ.แก่งคอยและ สปสช.จัดทำระบบการดูแลผู้สูงอายุ นอกจากการดูแลภายในชุมชนแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อเจ็บป่วยจะมีรถพยาบาลรับ-ส่งบริการฟรี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุดีขึ้น ผลการดำเนินงานพบว่าเป็นโครงการที่ดีมาก จากเริ่มต้นในพื้นที่มีผู้ป่วยอยู่ในภาวะพึ่งพิงจำนวน 160 คน เมื่อมีการจัดระบบ ทำให้มีผู้ป่วยจากติดเตียงเป็นติดบ้านและติดสังคมเหลือเพียง 122 คน และในปี 2560 เน้นการดูแลอย่างเป็นระบบ มีจิตอาสา สร้างการมีส่วนร่วมเป็นเหมือนญาติมิตร โดยเทศบาลฯ, รพ.แก่งคอย และ สปสช.ตั้งเป้าจะลดจำนวนผู้ป่วยติดเตียงให้เป็นติดบ้าน ติดสังคม 80 คน
นางสาวเบญจวรรณ ปริสถาพร
ด้านนางสาวเบญจวรรณ ปริสถาพร อายุ 60 ปี ผู้สูงอายุในพื้นที่ อ.แก่งคอย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีอาการเจ็บป่วยจนเป็นผู้ป่วยติดเตียง เดินไม่ได้ หากลุกเดินจะหกล้ม หมอให้ใส่เฝือก แต่เมื่อใส่เฝือกไปนานๆ มือลีบเล็ก หยิบจับไม่ได้ แต่มาภายหลังทีมหมอครอบครัว รพ.แก่งคอยเข้ามาดูแลถึงที่บ้าน และสอนกายภาพบำบัด จัดยาให้กินอย่างสม่ำเสมอ ได้เริ่มฝึกหัดเดิน แต่ต้องมีคนคอยเดินตามหลังเพื่อป้องกันการล้ม ส่งผลให้ดีขึ้น จากเคยเป็นผู้ป่วยติดเตียง ก็มาเป็นผู้ป่วยติดบ้าน แต่ยังต้องใช้ไม้เท้าประคองเดินในบ้าน
“ดีใจมาก หลังจากทีมหมอมาดูแล และสอนแนวทางการดูแลตัวเอง ทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ไม่เป็นภาระของผู้อื่น” นางสาวเบญจวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
- 103 views