สคอ.- สสส. ชวนเครือข่ายผลักดันป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ชู “กันตัง” จ.ตรัง พื้นที่ต้นแบบ ดึงท้องถิ่น-ชุมชน ร่วมแก้ไข วิเคราะห์จุดเสี่ยง ลดเจ็บตายเป็นศูนย์
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ที่ จ.ตรัง – ในการประชุม “สานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน” เขต 11และเขต 12 จัดโดย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศ สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมสื่อช่อสะอาด และ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เพื่อร่วมถอดบทเรียนการดำเนินงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่
นายศิริพัฒ พัฒกุล
นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดตรัง ในปี 2559 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 1,357 ครั้ง บาดเจ็บ 1,694 ราย เสียชีวิต 147 ราย และใน ปี 2560 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน พบเกิดอุบัติเหตุ 1,091 ครั้ง บาดเจ็บ 1,332 ราย และเสียชีวิต 142 ราย ซึ่งมีแนวโน้มที่ลดลง ทั้งนี้ได้มีนโยบายขับเคลื่อนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ต้องรู้หน้าที่ มีวินัย จิตอาสา ร่วมกันพัฒนาเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะผู้ใช้รถใช้ถนนต้องมีความปลอดภัย ให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และบังคับใช้กับทุกกลุ่ม โดยบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน พร้อมปลุกจิตสำนึกและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ ซึ่งสื่อต้องร่วมกระตุ้น หนุนเสริม สร้างสรรค์ และอ่านเข้าใจง่าย นอกจากนี้ด้านการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยงานด้านสาธารณสุขทุกระดับ ต้องเข้าถึงจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว การส่งต่อผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ต้องมีประสิทธิภาพ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดอย่างเข้มข้น
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การมีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ระดับชาติถึงระดับพื้นเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงาน และเป็นสิ่งที่ช่วยหนุนการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับปัญหาจะทราบถึงจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ดีที่สุด จึงต้องร่วมมือกันกำหนดแผนงาน นโยบายรองรับให้สอดคล้องและเป็นรูปธรรม อย่างเช่นจังหวัดตรัง ที่ได้ร่วมกันดำเนินการค้นหารูปแบบวิธีการใหม่ๆ ย่อมส่งผลดีต่อคนในพื้นที่ทำให้อุบัติเหตุลดลง ซึ่งควรมีการขยายให้ครอบคลุม และสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การทำงานที่ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายปัญญา แดหวา รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลกันตังใต้ อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า ตำบลกันตังใต้ มีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านท่าเรือ ควนมอง จุปะ เกาะเคี่ยม แตะหรำ และกันตังใต้ ประชากร 6,927 คน มีถนนเขตพื้นที่จำนวน 74 สายทาง มีสายหลัก 3 สาย ซึ่งเส้นทางสายหลักจะมีประชาชนใช้สัญจร ทั้งคนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเส้นทางดังกล่าวมีจุดเสี่ยง จุดอันตราย 3 จุด คือ บริเวณสะพานน้ำผึ้ง จุดเสี่ยงโค้งรำวง และถนนวังวน-เกาะเคี่ยม (จุดป่าโชน) โดยสะพานน้ำผึ้งจะเชื่อมต่อระหว่างเทศบาลเมืองกันตังและตำบลกันตังใต้ โดยสะพานเชื่อมซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของอบจ.ตรัง ได้มีการก่อสร้างสะพานใหม่ เมื่อปี 2557 ทำให้ระดับสะพานสูงกว่าถนน และไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอ เมื่อผู้ขับขี่รถถึงจุดดังกล่าวทำให้เกิดอุบัติเหตุอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินหลายราย โดยสถิติอุบัติเหตุปี 2558 บาดเจ็บ 6 ราย ปี 2559 เจ็บ 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา โดยได้แจ้งไปยัง อบจ.ตรัง ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบหลักและคณะกรรมการ ศปถ. อำเภอกันตัง ลงพื้นที่สำรวจ วิเคราะห์จุดเสี่ยง และแก้ไขปัญหาด้วยการปูทับเสริมผิวจราจรด้วยแอสฟัลท์ติกคอนกรีต แต่ยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากฝั่งที่ตั้งอยู่ในเขตของเทศบาลเมืองกันตังมีเกาะกลางไม่สามารถปูทับเสริมผิวจราจรฯ ให้เสมอกับขอบสะพานได้ ยังคงเป็นอันตรายกับผู้ใช้เส้นทางอยู่
นอกจากนี้ได้ติดตั้งไฟเตือน ไฟกระพริบ ประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อความปลอดภัยในการใช้เส้นทางในยามค่ำคืน จากแก้ปัญหาไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในจุดนี้อีกเลย จุดโค้งรำวง มีลักษณะทางโค้งทำมุม 90 องศา (หักศอก) เป็นอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทาง มีผู้ประสบอุบัติเหตุจากการใช้เส้นทาง ก่อนปี 2558 บาดเจ็บ 7 ราย ปี 2559 บาดเจ็บ 5 ราย ได้แก้ไขโดยติดตั้งป้ายสัญลักษณ์จราจร ป้ายเตือนทางโค้ง ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ติดตั้งป้ายเตือน ตีเส้นชะลอความเร็ว เพื่อให้ลดความเร็วของรถลงก่อนถึงทางโค้งอันตราย ซึ่งในปี 2560 พบอุบัติเหตุเป็นศูนย์
- 44 views