คนไทย ร้อยละ 9.8 เป็นเบาหวาน “แพทย์” ชี้ ผู้ป่วยควรปรับไลฟ์สไตล์ งดหวาน-ออกกำลังกาย ลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
ในวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก จากข้อมูลของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ รายงานว่าในปี พ.ศ. 2558 ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกมีจำนวน 415 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนในปี พ.ศ. 2583 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานจำนวน 5.3 ล้านคน นอกจากนี้ยังพบว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยในแต่ละวันจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 200 คน หรือ 8 รายต่อชั่วโมง และมีเพียง 10% ของผู้ป่วยเบาหวานที่มีชีวิตอยู่โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยภายใต้โครงการป้องกันและส่งเสริมคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัดเวที ระดมทีมแพทย์ บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน จากทั่วประเทศกว่า 100 คน จัดอบรมภายใต้แนวคิด “มีสุขภาพดี…คุมได้ แก้ไขได้ทัน…สรรค์ความช่วยเหลือ” โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ “คำถามที่พบบ่อยจากผู้ป่วยโรคเบาหวาน และแนวทางปฏิบัติทำให้ไม่เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากโรคเบาหวาน โดย รศ.พญ.ทิพาพร ธาระวานิช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พญ.ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไร้ท่อและโรคเบาหวาน โรงพยาบาลเลิดสิน
โรคเบาหวาน เป็นภาวะเรื้อรังของการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเกิดการความบกพร่องของการสร้างอินซูลิน หรือของการทำงานของอินซูลิน หรือทั้งสองกรณี โรคเบาหวานมักจะเกี่ยวพันกับโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหลายโรคและอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในทางการแพทย์ สามารถแบ่งชนิดของโรคเบาหวานออก เป็น 2 ชนิด ได้แก่
เบาหวานชนิดที่ 1 พบประมาณ 5-10% ของโรคเบาหวานทุกประเภท ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง พันธุกรรม และสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย
เบาหวานชนิดที่ 2 พบเป็นจำนวน 90-95% ของจำนวนโรคเบาหวานทุกชนิด ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานประเภทนี้ได้แก่ อายุที่มากขึ้น ความอ้วน บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน ประวัติการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความต้านทานต่อกลูโคสต่ำ ร่างกายไม่เคลื่อนไหว เชื้อชาติ ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ มีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด
ส่วนเบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์จะเกิดขึ้น 2-5% ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่พบหลังการคลอดบุตรแล้ว ผู้หญิงที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการพัฒนาที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีงานวิจัยกล่าวไว้ว่า ร้อยละ 40 ของผู้หญิงที่มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะพัฒนาเป็นเบาหวานได้ในอนาคต
ทำอย่างไรไม่ให้ผู้ป่วยเบาหวานเจ็บป่วยฉุกเฉิน
รศ.พญ.ทิพาพร กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินจนถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลนั้น มักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรงเบาหวาน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ
1.แทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน คือ มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ-สูง อย่างรุนแรง โดยผู้มีน้ำตาลในเลือดต่ำจะมีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 เมื่องดอาหารแล้วตรวจเลือด โดยจะมีอาการใจสั่น หน้ามืด จะเป็นลม อาจหมดสติ ซึม หรือชัก สำหรับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั้นจะมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 126 เมื่องดอาหารแล้วตรวจเลือด ผู้ป่วยบางรายอาจซึม หรือในบางราย ร่างกายไม่สามารถสลายน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้ จึงต้องเอาไขมันมาสลายเป็นพลังงาน สุดท้ายจึงเกิดภาวะเลือดเป็นกรด โดยผู้ป่วยเบาหวานที่พบในห้องฉุกเฉินจะอยู่ในภาวะน้ำตาลต่ำรุนแรง
2.แทรกซ้อนแบบเรื้อรัง จะเป็นลักษณะของ โรคอัพฤกษ์ อัมพาต แขน-ขาไม่มีแรง โรคหัวใจ หรือ โรคจากการติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือผู้ป่วยเบาหวานที่ขาเป็นแผล จนต้องตัดขา เป็นต้น
รศ.พญ.ทิพาพร ธาระวานิช
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยขณะนี้พบว่า ในคนไทย 11 คน จะพบผู้ป่วย 1 คน หรือ คิดเป็น ร้อยละ 9.8 จากประชาการทั้งหมด ซึ่งเบาหวานที่พบบ่อยคือ เบาหวานที่เกิดกับผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ที่กำหนดหรืออ้วน หรือ มีประวัติทางกรรมพันธุ์
นอกจากนี้ เบาหวานที่เกิดกับกลุ่มเยาวชนที่มีน้ำหนักเกินมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอดีต โดยมักจะอยู่ในภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จนต้องฉีดอินซูลิน วันละหลายๆ ครั้ง หากผู้ป่วยขาดยามื้อใดมื้อหนึ่งไป อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจนเลือดเป็นกรด ซึ่งผู้ปกครองต้องดูแลในส่วนนี้อย่างใกล้ชิด
“หากมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หอบ เหนื่อย หน้าและปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขน ขาอ่อนแรง ซึ่งเป็นอาการของโลกอัมพฤกษ์-อัมพาต หรือมีไข้สูง มีแผลที่เท้าติดเชื้อบวมแดงขอให้รีบมาโรงพยาบาลโดยทันที สำหรับแนวทางป้องกัน ผู้ป่วยต้องรู้จักอาการของอาการแต่ละชนิดก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใด และต้องพึงระลึกเสมอว่า เบาหวานไม่โรคที่เกี่ยวกับน้ำตาลเพียงอย่างเดียวแต่เกี่ยวกับหลอดเลือด เพราะฉะนั้น ต้องรักษาความดัน ไขมัน พบแพทย์ให้สม่ำเสมอ ออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ และลดน้ำหนัก”
ลดปัจจัยเสี่ยง ลดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ด้าน พญ.ฐิตินันทร์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ควบคุมโอกาสการเกิดโรคเบาหวานได้คือ การลดน้ำหนัก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือ เชื้อชาติ กรรมพันธุ์ อายุที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้โรคแทรกซ้อนอื่นๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคหัวใจ หรือมีถุงน้ำในรังไข่ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโลกเบาหวานได้เช่นกัน
พญ.ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย
“จากหลายๆ ผลการศึกษาจากต่างประเทศพบว่า การแก้ไขวิถีการดำเนินชีวิต โดยการออกกำลังกายแอโรบิค สัปดาห์ละ 150 นาทีเป็นอย่างน้อย ลดอาหารหวานและอาหารที่ให้พลังงานเยอะ ทานอาหารตรงเวลา ลดปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้เอง สามารถชะลอการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตได้ถึง 28% โดยไม่ต้องอาศัยยาให้เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด” พญ.ฐิตินันทร์ ระบุ
เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่เป็นอันตราย หากแต่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติได้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ หรือทำให้ผุ้ป่วยเสียชีวิตได้เช่นกัน
- 106 views