ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านยาในประเทศไทยมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมากในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปี จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าเกิดจากหลายเหตุปัจจัย เช่น ราคายาที่เพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย ฯลฯ และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นคือปัญหายาเหลือใช้ ซึ่งมาจากการครอบครองยาเกินจำเป็นจากระบบการสั่งจ่ายยา และความไม่ร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย

ปี 2555 ได้มีงานวิจัย “ศึกษาขนาดและผลกระทบทางการคลังของการครอบครองยาเกินจำเป็นและการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย” โดย รศ.ดร.ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์ และคณะ จากศูนย์วิจัยผลลัพธ์ทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พบข้อมูลสำคัญหลายประการที่บ่งชี้ถึงปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็น กล่าวคือ

ขนาดและผลกระทบของปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลยาในโรงพยาบาลพบว่า ผู้ป่วยนอกมากกว่าครึ่งหนึ่งมีการครอบครองยาเกินจำเป็น (ปริมาณยา >100% ของปริมาณที่จำเป็น) ความชุกของปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็นเกิดขึ้นมากในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เกิดขึ้นในผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ

แต่มูลค่าความสูญเสียเฉลี่ยต่อรายการในยานอกบัญชี มีมูลค่าสูงกว่ารายการยาในบัญชี ถึง 3 เท่า และมีเพียงส่วนน้อยที่ปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็นเกิดจากผู้ป่วยรับยาตัวเดียวกันข้ามสถานพยาบาล ส่งผลให้ในภาพรวมประเทศสูญเสียทางการคลังโดยไม่จำเป็นจากการครอบครองยาเกินจำเป็นประมาณ 2,360 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.47% ของมูลค่าการบริโภคยาในประเทศไทย (National drug account)

สาเหตุของปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็นและแนวทางในการแก้ปัญหา

จากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวน 35 คนพร้อมทั้งทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาพบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการครอบครองยาเกินจำเป็นมีอยู่ด้วยกันใหลายๆระดับ ได้แก่

• ระดับตัวยา เช่น แผงบรรจุภัณฑ์ไม่เอื้อให้มีการสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม

• ระดับบุคคล เช่น ความตระหนักในปัญหาของแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย

• ระดับภายในองค์กร เช่น ระบบบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพในการรองรับและแก้ไขปัญหาฯ ระบบการส่งต่อข้อมูลที่ไม่รองรับการวิเคราะห์การครอบครองยาของผู้ป่วย

• ระดับระหว่างองค์กร เช่น การส่งข้อมูลการจ่ายยาระหว่างองค์กร

• ระดับประเทศ เช่น สิทธิการรักษาที่ส่งผลให้เพิ่มโอกาสการครอบครองยาเกินจำเป็นได้

และจากการวิเคราะห์สาเหตุของการครอบครองยาเกินจำเป็น พบว่าสาเหตุต่างๆนั้นมีความเชื่อมโยงกันค่อนข้างมาก เช่น เนื่องจากความไม่ตระหนักของแพทย์และผู้ป่วยทำให้สถานพยาบาลไม่มีการพัฒนาระบบบริการ หรือเนื่องจากระบบบริการไม่มีความต้องการในการวิเคราะห์ปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็น ทำให้

- ไม่มีการพัฒนาระบบการส่งต่อข้อมูลทั้งภายในและระหว่างสถานพยาบาล ดังนั้นในการแก้ปัญหาจำเป็นต้อง

- แก้ปัญหาเชิงระบบโดยความร่วมมือของทุกๆภาคส่วน ทั้งในระดับสถานพยาบาลและระดับประเทศ

ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหา เช่น พัฒนาระบบบริการและระบบข้อมูล เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกไปใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพจำนวน 2 ครั้ง และการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายทางเลือก ทำให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ควรได้รับการพิจารณาสำหรับการแก้ปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็น ดังนี้

1. การพัฒนาระบบบริการ โดย

1) สร้างระบบการตรวจสอบปริมาณยาก่อน/หลังพบแพทย์ เช่น สร้างระบบการตรวจสอบยา เสริมในระบบบริการที่มีอยู่เดิม เช่น สร้างระบบตรวจสอบยาเสริมเข้าไปกับระบบคัดกรองผู้ป่วยก่อนหรือหลังการเข้าพบแพทย์

2) สร้างระบบบริการเติมยา เช่น สร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเติมยาให้แก่ผู้ป่วยและแพทย์สั่งยาให้แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ควบคุมอาการได้พร้อมสั่งให้ผู้ป่วยมาเติมยาได้ที่หน่วยงานดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์

2. พัฒนาระบบข้อมูล โดยสร้างระบบคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบและการเตือน เช่น ระบบ Alert systemโดยการคำนวณอัตโนมัติและ pop-up แก่แพทย์โดยตรง

3. สร้างโครงการรณรงค์เพิ่มความตระหนักด้านการครอบครองยาเกินจำเป็นแก่บุคลากรทางการแพทย์ เช่น องค์กรวิชาชีพสร้างโครงการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลให้แก่บุคลากรในวิชาชีพของตน

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาการมียาครอบครองเกินจำเป็นเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ปัญหาดังกล่าวทำให้ประเทศสูญเสียทางการคลังโดยไม่จำเป็น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และมักเกิดในผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการ

ปัญหาการมียาครอบครองเกินจำเป็นเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ระบบบริการที่ไม่คำนึงถึงปัญหานี้ การเชื่อมต่อข้อมูลการรับบริการสาธารณสุขที่ยังไม่สมบูรณ์ สิทธิการรักษาพยาบาลที่ส่งผลให้ขาดความตระหนักเรื่องดูแลยาของผู้ป่วย การขาดความตระหนักของบุคลากรทางการแพทย์ และรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสั่งจ่ายให้ตรงตามจำนวนวัน เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็นควรได้รับการแก้ปัญหา โดยอาจกำหนดนโยบายจากทางส่วนกลางผู้จ่าย เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง ให้ทางสถานพยาบาลพัฒนาระบบบริการเพื่อแก้ปัญหาการครอบครองยาเกินจำเป็น รวมถึงการรณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของการครอบครองยาเกินจำเป็น

เก็บความจาก

รศ.ดร.ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์ และคณะ (2555). การศึกษาขนาดและผลกระทบทางการคลังของการครอบครองยาเกินจำเป็นและการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย. ศูนย์วิจัยผลลัพธ์ทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร,สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.).