กมธ.สาธารณสุข ถกแก้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 2559 ยกเว้นไม่บังคับครอบคลุมถึงเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ คาดสัปดาห์หน้าฟันธงได้ว่าจะแก้หรือไม่ ด้านนายกทันตแพทยสภาชี้อยู่ระหว่างหารือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ฟัน แต่ระหว่างนี้ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไปก่อน
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า กมธ.การสาธารณสุข ได้มีการหารือถึงการแก้ไข พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 2559 ในประเด็นการแยกเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ออกจากการควบคุมของกฎหมายดังกล่าว โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีข้อสรุปว่าจะแก้หรือไม่แก้
นพ.เจตน์ กล่าวว่า ประเด็นใหญ่ของเรื่องนี้คืออำนาจในการออกใบอนุญาตมีเครื่องเอกซเรย์เป็นของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญจาก ปส. มองว่าถึงไม่ได้เปิดใช้งานเครื่องเอกซเรย์ แต่อุปกรณ์นี้ก็สามารถแผ่รังสีได้ ขณะที่ความคิดเห็นจากวิชาชีพทันตแพทย์ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้มีความเห็นต่างกัน ดังนั้นก็ต้องมีการต่อสู้ในทางทฤษฎีอ้างอิงกันด้วยวิชาการ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะให้ทั้ง 2 ฝ่ายนำเอกสารทางวิชาการมายืนยันเหตุผลของตนและคาดว่าน่าจะมีข้อสรุปกันได้
“กฎหมายนี้มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์เพราะฉะนั้นก็ควรมีแค่การควบคุมกัมมันตรังสี ถ้าหากเครื่องเอกซเรย์ไม่มีกัมมันตรังสีก็สามารถแยกออกมาจากกฎหมายนี้ได้ ซึ่งเราก็คุยกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้ถือหางใคร อีกสัปดาห์เดียวก็น่าจะฟันธงได้” นพ.เจตน์ กล่าว
ทั้งนี้ หากมีข้อสรุปว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ตามขั้นตอนก็จะมีการรวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช.เพื่อขอแก้ไขกฎหมาย รวมทั้งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญด้วย
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ
ด้าน ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับ ปส.เพื่อออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์จากการควบคุมของกฎหมายฉบับนี้ คาดว่าอีกไม่นานน่าจะตกลงในเงื่อนไขต่างๆ ได้ ขณะเดียวกันทันตแพทยสภาได้ทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้ยกเว้นไม่ต้องบังคับให้คลินิกฟันทุกแห่งมีเครื่องเอกซเรย์ โดยทาง สธ.ได้รับหลักการแล้ว
“โดยรวมแล้วขณะนี้ถือว่ายังอยู่ในช่วงของการแก้ไขกฎกระทรวงทั้งของ สธ.และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งหากยังไม่มีกฎกระทรวงหรือกฎหมายใหม่ออกมาก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีผลในปัจจุบันก่อน คือต้องให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องเอกซเรย์ และต้องขอใบอนุญาตจาก ปส.” ทพ.ไพศาล กล่าว
อนึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ที่ครอบครองเครื่องเอกซเรย์ต้องขออนุญาตจาก ปส. และต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีประจำเครื่องด้วย ซึ่งสร้างผลกระทบกับวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะทันตแพทย์ ซึ่งมองว่าทำได้ยากในทางปฏิบัติในการหาเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีมาประจำเครื่อง อีกทั้งมองว่าเครื่องเอกซเรย์ไม่ควรถูกเหมารวมกับพลังงานนิวเคลียร์ และควรให้อยู่ในการดูแลของกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมามากกว่า จึงมีความพยายามผลักดันให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้กับเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ แต่จนถึงขณะนี้ทาง ปส. ก็ยังยืนยันว่าเครื่องเอกซเรย์ถือเป็นเครื่องกำเนินดรังสีที่ต้องอยู่ในการควบคุมตามกฎหมายฉบับนี้
- 5 views