ผู้ช่วยปลัด สธ. เผย ปี 60 รพ.สธ.ขาดสภาพคล่องลดฮวบ หลังคณะทำงาน สธ.-สปสช.ร่วมปรับกลไกจัดสรรงบสัมฤทธิ์ผล เผยจากปี 59 ช่วง 3 ไตรมาสแรก มี รพ.ขาดสภาพคล่องวิกฤตระดับ 7 ถึง 86 แห่ง ปี 60 ลดลงเหลือ 29 แห่ง ระบุ ปี 61 เตรียมอุดช่องว่างจัดสรรงบปีที่ผ่านมา ปรับกลุ่มเป้าหมายดูแล รพ.มีปัญหาสภาพคล่องเพิ่ม พร้อมประกันรายรับ รพ.หลังหักเงินเดือนไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท
นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก
นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงจุดเน้นและประเด็นเการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ในปี 2561 ในการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมาว่า การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว (งบ UC basic payment) ไปยังหน่วยบริการปี 2561 นี้ สธ.มีบทบาทมากขึ้น โดยคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เปิดให้ สธ.เสนอกลไกการจัดสรรและปรับปรุงการกระจายงบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในหน่วยบริการภายใต้สังกัดเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
โดยการจัดทำข้อเสนองบปี 2561 มาจากการทบทวนการจัดสรรงบประมาณ 3 ไตรมาสแรกของปี 2560 ทั้งงบผู้ป่วยนอก งบผู้ป่วยใน และงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ได้มีการปรับปรุงโดยคณะทำงานร่วมกันระหว่าง สธ. และ สปสช.เพื่อแก้ไขปัญหาหน่วยบริการขาดสภาพคล่อง ภาพรวมส่วนใหญ่ยังคล้ายปี 2560 เพียงแต่ปรับปรุงในส่วนที่ยังเป็นปัญหา
นพ.พิทักษ์พล กล่าวต่อว่า ในการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2560 กลไกสำคัญคือการกันเงินระดับประเทศและการกันเงินระดับเขตเพื่อช่วยเติมเต็มการบริหารให้กับหน่วยบริการ โดยกระจายตามความต้องการและผลงานบริการ ซึ่งจากที่คณะทำงานได้ประมาณการรายรับหน่วยบริการ พบว่าหน่วยบริการส่วนใหญ่ งบเหมาจ่ายรายหัวเป็นเพียงรายได้ส่วนหนึ่งของหน่วยบริการเท่านั้น ดังนั้นการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวคณะทำงานจึงเน้นให้ความสำคัญต่อหน่วยบริการที่เปราะบางทางการเงิน มีประชากรเบาบาง โดยรายรับส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับงบเหมาจ่ายรายหัว ทั้งนี้เพื่อให้งบประมาณลงไปเพียงพอและไม่ประสบปัญหาสภาพคล่องในปลายปี
หลักการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2560 งบผู้ป่วยนอกและงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้กำหนดการโอนงบประมาณแบ่งเป็น 2 งวด คือในไตรมาสที่ 1 และ 2 งวดละ 50% เพื่อให้หน่วยบริการมีงบเพียงพอในการบริหารจนถึงปลายปี ส่วนงบผู้ป่วยในกำหนดให้เบิกจ่ายตามผลงานบริการรายเดือน เมื่อสิ้นปี รพ.แต่ละแห่งจะได้งบเหมาจ่ายรายหัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 เมื่อเปรียบเทียบในปี 2559 คาดว่าในปี 2560 การจัดสรรงบเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2560อยู่ที่ 52,200 ล้านบาท ช่วง 3 ไตรมาส รพ.ได้รับงบแล้ว 47,428 ล้านบาท โดย รพ.ร้อยละ 91 มีรายรับงบเหมาจ่ายรายหัวที่เป็นไปตามตามเป้าคือ ร้อยละ 73 อย่างไรก็ตามยังมี รพ.อีก 27 แห่ง หรือร้อยละ 3 ที่ยังมีรายรับจากงบเหมาจ่ายรายหัวน้อยกว่าคาดการณ์
นพ.พิทักษ์พล กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ รพ.ที่ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวน้อยกว่าคาดการณ์ พบกว่าใน 27 แห่ง มี รพ. 4 แห่ง ที่สภาพคล่องการเงินอยู่ในวิกฤตระดับ 7 ในจำนวนนี้มี 2 แห่งที่อยู่ในกลุ่ม รพ. 202 แห่งที่ประสบปัญหาสภาพคล่องในปี 2559 และเป็นเป็นเป้าหมายของปี 2560 เพื่อช่วยเหลือ ส่วนอีก 2 แห่งเป็นเป็น รพ.นอกกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์สาเหตุหลักมาจากผลงานบริการการผู้ป่วยในต่ำกว่าคาดการณ์ เป็นเรื่องประสิทธิภาพหน่วยบริการ ทำให้รายรับจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ โดย รพ.อีก 23 แห่ง แม้ว่ารายได้งบเหมาจ่ายจะต่ำกว่าคาดการณ์ แต่ไม่ประสบปัญหาสภาพคล่องวิกฤติระดับ 7 อาจมีรายรับจากสิทธิการรักษาอื่น การบริหารจัดการระดับเขต
อย่างไรก็ตามในปี 2560 นี้ รพ.ที่มีรายรับงบเหมาจ่ายเป็นไปตามที่คาดการณ์มีจำนวน 881 แห่ง จาก 908 แห่ง ในจำนวนนี้มีเพียง 25 แห่ง อยู่ในวิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 ซึ่งกลไกจัดสรรเงินและการการันตีรายรับงบเหมาจ่ายยังไม่สามารถปกป้องให้สภาพคล่องให้ รพ.เหล่านี้ได้ แต่ภาพรวมการบริหารจัดสรรงบเหมาจ่ายปี 2560 ถือว่าประสบผลสำเร็จ เพราะเมื่อเปรียบเทียบข้อมูล รพ.ในแต่ละปีเป็นรายไตรมาสพบว่าจำนวน รพ.วิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 ลดลงอย่างมาก โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มี รพ.วิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 จำนวน 74 แห่ง ปี 2560 มีเพียง 5 แห่ง, ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มี รพ.วิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 จำนวน 4 แห่ง ปี 2560 มีเพียง 7 แห่ง และไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มี รพ.วิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 จำนวน 86 แห่ง ปี 2560 ลดลงอยู่ที่ 29 แห่ง
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ช่วงไตรมาส 3 พบว่า จำนวน รพ.29 แห่งที่ประสบวิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 มีเพียง 6 แห่งที่อยู่ในกลุ่ม รพ. 202 แห่งที่เป็น รพ.เป้าหมายในการแก้ไขสภาพคล่อง และ 23แห่ง เป็น รพ.ที่อยู่นอกกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตามในจำนวน รพ. 29 แห่งนี้ 3 แห่ง เป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 3 แห่ง และอีก 26 แห่งเป็น รพช. ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ รพ.เกิดสภาพคล่องวิกฤต นอกจากจำนวนประชากรน้อยและวิธีการจัดสรรงบประมาณแล้ว ยังพบปัญหาผลงานบริการผู้ป่วยในของ รพ.ต่ำกว่าเป้าหมาย การบริหารรายได้และค่าใช้จ่ายของของ รพ. และต้นทุนการดำเนินงาน รพ.ที่สูง
นพ.พิทักษ์พล กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นนี้ ในปี 2561 จะมีกลไกในการจัดสรรและดูแลหน่วยบริการที่ยังคงมีปัญหาวิกฤตสภาพคล่องอย่างไร โดยปี 2561 สป.สธ.ได้รับงบเหมาจ่าย 99,900 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2560 จำนวน 2,900 ล้านบาท โดยเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จ่ายเป็นเงินเดือน เงินที่เพิ่มเติมในระบบมีเพียง 495 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.81% ถือว่าน้อยมาก ซึ่งการจัดสรรยังคงหลักการเดียวกับปี 2560 โดยหักเงินในงบเหมาจ่ายรายหัว 4 รายการ คือ เงินจ่ายตามผลงานและคุณภาพบริการ (Quality and Outcome Framework : QOF) ในผู้ป่วยนอก 9 บาท/ผู้มีสิทธิ์ และส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 9 บาท/ประชากร, การกันเงินระดับประเทศ 1.5% หรือ 1,500 ล้านบาท และการกันเงินระดับเขต 1,500 ล้านบาท รวมเป็นประมาณที่หักจากงบเหมาจ่ายรายหัว 7,000 ล้านบาท
ส่วนประเด็นเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบเหมาจ่าย ปี 2561 ได้ปรับกลุ่มเป้าหมายจัดสรรงบให้กับ รพ.ที่มีปัญหาสภาพคล่องจาก 202 แห่ง เป็น 216 แห่ง เป็นการเพิ่มเติม รพ.ขนาดเล็ก ประชากรน้อย โดยการจัดสรรเงินได้การันตีรายรับงบเหมาจ่ายหลังหักเงินเดือนให้กับ รพ.ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย 100% และ รพ.กลุ่มทั่วไป 85% ซึ่งหลังหักเงินเดือนจะต้องมีรายรับไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท พร้อมให้อำนาจระดับเขตปรับเกลี่ยงบให้กับ รพ.ตามสภาพปัญหาในพื้นที่ ตามเงื่อนไขที่ส่วนกลางกำหนดและปรับตามน้ำหนักคะแนนเพื่อให้เกิดการดูแล รพ.กลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ยังได้กำหนดแผนการโอนงบประมาณโดยงวดที่ 1 จำนวน 3 ล้านบาทให้กับ รพ.ทุกแห่ง ไม่เกิน 31 ตุลาคม 2560 งวดที่ 2 โอนงบผู้ป่วยนอกและงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ร้อยละ 50 ภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 และงวดที่ 3 โอนงบงบผู้ป่วยนอกและงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่เหลืออีกร้อยละ 50 ไม่เกิน31 มกราคม 2561 ทั้งนี้เพื่อให้ รพ.ได้รับงบประมาณรวดเร็ว และป้องกันปัญหาสภาพคล่องในช่วงปลายปี
- 11 views