แฉ สธ.ส่งร่าง กม.บัตรทองยัดไส้ประเด็นขัดแย้งให้ ครม. จี้ รมว.สธ.เร่งตั้ง คกก.ศึกษาผลกระทบแยกเงินเดือนงบรายหัว ให้ชัดเจนก่อน
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมหลักประกันสุขภาพตัวแทนประชาชน เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคประชาชนมีความกังวลอย่างมากต่อกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐนตรี (ครม.) โดยมีการยัดไส้ประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างกันมาก คือ การแยกหรือไม่แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการหารือกันในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อเดือน ก.ค.60 ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ว่า เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความเห็นต่างกันมาก แต่ละฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและเห็นค้าน ต่างก็นำเสนอข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้ คือการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาข้อมูลและผลกระทบให้ชัดเจนบนฐานของงานวิชาการ ไม่ใช่การคิดเอาเองโดยปราศจากหลักฐานวิชาการรองรับ ไม่เช่นนั้นก็จะเท่ากับว่าไปแก้ปัญหาหนึ่ง แต่ทำให้เกิดอีกปัญหาหนึ่ง กลายเป็นงูกินหางวนไม่รู้จบ
นส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นนี้ความเห็นกระทรวงสาธารณสุขเองก็แบ่งเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ฝั่ง รพ.ใหญ่เห็นด้วยให้แยก แต่ฝั่ง รพ.เล็ก คือ รพ.ชุมชน เห็นค้าน จะเห็นว่าภายใน สธ.เองก็ยังเห็นต่างกันมาก ดังนั้นข้อตกลงที่ให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาเชิงวิชาการจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่กลายเป็นว่า สธ.เองไม่สนใจ เมื่อส่งร่าง พ.ร.บ.บัตรทองที่มีการแก้ไขให้ ครม.พิจารณา ก็ไม่ระบุว่านี่เป็นประเด็นที่เห็นแย้งกันมาก ทั้งจากหมอใน สธ.และทั้งจากภาคประชาชน การทำแบบนี้ก็เท่ากับสร้างปัญหาไม่รู้จบ
“ขอเรียกร้องให้ รมว.สธ.ทำตามที่รับปากไว้ในการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คือในประเด็นที่ยังเห็นต่างกันมาก ให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อมูลเชิงวิชาการก่อน อย่าให้เสียชื่อของกระทรวงสาธารณสุขที่เคยมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับว่าทำนโยบายด้วยข้อมูลเชิงวิชาการรองรับมาตลอด แต่กลับเรื่องแยกหรือไม่แยกเงินเดือน สธ.เองไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการที่จะอธิบายได้ แต่กลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบเช่นนี้” นส.กรรณิการ์ กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ทำหนังสือขอเข้าชี้แจงกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ ให้ชะลอการนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรีจนกว่าจะมีงานวิชาการที่ชี้ชัดถึงข้อดีข้อเสีย
- 12 views