สสส.ลงนามความร่วมมือ 60 อปท. สร้างเครือข่ายสูงวัยสร้างเมือง ลุยปฏิบัติการดี๊ดีของชุมชนท้องถิ่น งัดกลยุทธ์ “5อ.5ก.” พัฒนาคุณภาพชีวิตอาชีพ-อาหาร-ออกกำลังกาย-ออม-อาสาสมัคร พร้อมชวนหน่วยงานในพื้นที่ขับเคลื่อน 5ก.สู่ต้นแบบศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการมุ่งสู่ “สูงวัยสร้างเมือง” และลงนามบันทึกข้อตกลงเครือข่ายสูงวัยสร้างเมือง ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 60 แห่ง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่าย (ศวภ.)โดยมีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 73 อปท.รวมกว่า 1,000 คนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า ในปี 2558 ประชากรไทยมีจำนวนราว 65.1 ล้าน มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด จากการคาดประมาณประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุด้วยว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 และจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2574 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นสังคมไทยต้องวางแผนรับมือให้ได้ แต่ต้องเตรียมรับมือตั้งแต่วันนี้

จากข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 2,618 แห่ง มีประชากรจำนวน 8,181,181 คน พบว่า ในปี 2560 มีผู้สูงอายุ 18.5% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยภาคเหนือมีประชากรสูงวัยมากที่สุด 22% ภาคกลาง 20% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17% และภาคใต้ 16% โดยเฉลี่ยพบว่า 20% มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูงและมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นแทรกซ้อนที่ต้องไปหาหมอเป็นประจำ ดังนั้นในการจัดการรับมือกับผู้สูงวัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น อันนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและทำให้เกิดระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง

“สสส.สนับสนุนการจัดระบบการทำงานในพื้นที่ให้เกิดการจัดการที่ดี ออกแบบการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากร อบรมทักษะ โดยอาศัยข้อมูลสุขภาพตำบล และงานวิจัยชุมชนเป็นฐานในการทำงาน ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดตั้งต้นที่จะทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นต่อไป” นางสาวดวงพร กล่าว

ด้าน รศ.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่นประกอบด้วยแนวทาง 6 ประการ ได้แก่

1. การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุและผู้ที่เกี่ยวข้อง

2.การปรับสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ

3.การพัฒนาระบบบริการในการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ

4.การจัดตั้งกองทุนและจัดให้มีสวัดิการในการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ

5.การพัฒนาระบบข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อดูแลผู้สูงอายุ

6.การพัฒนากติกา ระเบียบแนวปฏิบัติเพื่อหนุนเสริมการดำเนินกิจกรรมเสริมความเข้มแข็ง ชุมชนท้องถิ่น ในการออกแบบและพัฒนาให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเอื้อต่อการดำรงชีวิตที่ยืนนาน

จึงกำหนดเป็น 10 กลยุทธ์หลัก “5 อ.และ 5ก.”เพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม 5 อ.ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 2.อาหารสำหรับผู้สูงอายุ 3.การส่งเสริมการออกกำลังกายผู้สูงอายุ 4.การออมเพื่อผู้สูงอายุ และ 5.ฝึกอบรมอาสาสมัครและอาสาสมัครเยี่ยมบ้าน

ส่วน 5 ก.หมายถึง 5 กลไก ประกอบด้วย 1.การป้องกันและลดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ 2 การตั้งและพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุ 3.การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ 4.การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน 5. การบริการกายอุปกรณ์ หรือการมีศูนย์อุปกรณ์ช่วยเหลือและฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นกลไกให้หน่วยงานในพื้นที่เป็นกลไกและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนที่สำคัญ