กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พัฒนาห้องคลอดต้นแบบในโรงพยาบาลชุมชนด้วยระบบความดันบวกป้องกันการติดเชื้อในอากาศสู่แม่และลูกโดยใช้ต้นทุนเพียง 30,000 – 100,000 บาท สร้างความปลอดภัยและพัฒนาคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขส่งมอบแล้วที่ รพ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ที่แรกของประเทศ
นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 2 จังหวัดพิษณุโลก ได้ดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนาห้องคลอดต้นแบบให้เข้าเกณฑ์มาตรฐาน อาทิ อุณหภูมิ ความชื้น เครื่องมือ เวชภัณฑ์ที่อยู่ภายในห้องคลอด ความสะอาดของอาคาร สถานที่ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบความดันอากาศเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการติดเชื้อโรคในอากาศสู่แม่และลูก โดยเข้าไปปรับปรุงแก้ไขเฉพาะส่วนแต่ยังคงระบบที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณ ใช้ต้นทุนเพียง 30,000 – 100,000 บาท เมื่อเทียบกับการจัดสร้างใหม่ซึ่งใช้งบประมาณค่อนข้างสูง และได้ส่งมอบห้องคลอดต้นแบบให้กับ รพ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
นายสาธิต นฤภัย ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 2 จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สำนักงานฯได้ทำการศึกษา วิจัยร่วมกับโรงพยาบาลหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในการปรับปรุงห้องคลอดต้นแบบสำหรับโรงพยาบาลชุมชน ด้วยระบบความดันบวก (positive pressure) ด้วยการปรับระบบความดันให้มีค่าไม่น้อยกว่า 2.5 Pa ซึ่งต้องมีค่าสูงกว่าบริเวณรอบนอกห้อง รวมถึงการไหลเวียนอากาศออกสู่ภายนอกเพียงทางเดียวเท่านั้น และควรรักษาความดันให้เป็นบวกอยู่เสมอ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 22 - 26 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ต้องอยู่ในช่วง 45 – 55 % เพื่อเจือจางสิ่งที่ปนเปื้อนในอากาศให้ปลอดเชื้อโรค ประตูเข้า-ออก ควรเปิดปิดน้อยที่สุด เป็นการลดการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายออกสู่ภายนอก
ทั้งนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องเติมอากาศบริสุทธิ์ เพื่อควบคุมความดันภายในห้องคลอด เครื่องปรับอากาศทำความเย็น และระบบระบายความร้อน พร้อมเข้าปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น ผนังห้อง เพดาน สิ่งแวดล้อม ระบบไฟฟ้า เป็นต้น เพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล สร้างความปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ผู้อำนวยการสำนักงานฯ เขต 2 กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการพัฒนาและส่งมอบห้องผ่าตัด และห้องฉุกเฉินต้นแบบ ที่โรงพยาบาลป่าแดด จังหวัดเชียงราย เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2561 จะดำเนินการในส่วนของหน่วยจ่ายกลางในโรงพยาบาลชุมชนซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุด เป็นหน่วยในการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์การแพทย์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ก่อนนำกลับไปใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วยใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดสนใจสามารถเข้าศึกษาดูงานได้ที่โรงพยาบาลต้นแบบ และขอรับคู่มือได้ที่สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 2 จ.พิษณุโลก โทร 0 5622 2375
- 85 views