ตัวแทนวิชาชีพด้านสาธารณสุข รุมค้าน พ.ร.บ.นิวเคลียร์ ฉบับใหม่ เหตุสร้างผลกระทบต่อทุกวิชาชีพ นายกทันตแพทยสภา อัด กฎหมาย ปส.ก้าวก่ายกฎหมายหมอฟัน ขณะที่นายกสัตวแพทยสภา เชื่อ 700 คลินิกรักษาสัตว์วุ่นแน่
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “กฎหมายนิวเคลียร์: ผลกระทบและการบังคับใช้” ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2560 ตอนหนึ่งว่า พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ที่กำลังจะบังคับใช้ในขณะนี้ออกมาก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาจึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข 7 วิชาชีพ ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องเอกซเรย์ในสถานพยาบาลตั้งแต่คลินิกขนาดเล็กไปจนถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยแพทย์
“ผมเชื่อว่าหากมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กฎหมายฉบับนี้คงไม่มีทางประกาศใช้ได้” นพ.เจตน์ กล่าว
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ดี แต่กลับรวมวัสดุนิวเคลียร์ กัมมันตรังสี และเครื่องกำเนิดรังสี ไว้ด้วยกัน ควบคุมแบบเดียวกันและกำหนดโทษระดับเดียวกัน ทั้งที่เครื่องเอกซเรย์ฟันเป็นเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานเมื่อมีกระแสไฟฟ้าเท่านั้น และมีรังสีที่ต่ำที่สุดในเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ ที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานความเสียหายกับผู้ป่วยหรือเกิดความเสี่ยง
ทพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า หลักสากล International Atomic Energy Agency (IAEA) เขียนมาตรการการควบคุมไว้อย่างชัดเจน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ Notification Registration และ Licenseing โดยกำหนดให้ทันตแพทย์ใช้เครื่องมือได้โดยอิสระ ไม่ต้องขอ License RSO อีก แต่กฎหมายฉบับนี้ทำให้ทันตแพทย์ต้องมาขอใบอนุญาตเพิ่มจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)
“เห็นได้ชัดว่ากฎหมายของ ปส.ไปก้าวก่ายกฎหมายของทันตแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และกฎหมายฉบับนี้อาจทำให้ทันตแพทย์ต้องเลิกใช้เครื่องเอกซเรย์ในคลินิก กระทบมาตรฐานวิชาชีพ ขัดขวางพัฒนาการของวิชาชีพ และเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ควบคุมการใช้กฎหมายกับทันตแพทย์” ทพ.ไพศาล กล่าว
ทพ.ยุทธนา พินิจกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหันคา จ.ชัยนาท กล่าวว่า พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฉบับใหม่นี้ จะทำให้โรงพยาบาลได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลชนาดเล็ก เนื่องจากผู้อำนวยการจะต้องรับผิดชอบกรณีที่ไม่สามารถหาเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) มาประจำตลอด 24 ชั่วโมงได้ ส่วนตัวเสนอให้ถอดเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ออกจากกฎหมายทั้งหมด
“ถามว่าหาก RSO ไม่อยู่ในขณะที่มีคนไข้อาการหนักเข้ามาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะทำอย่างไร ต้องรอให้ RSO มาก่อนใช่หรือไม่” ทพ.ยุทธนา กล่าว
น.สพ.สุวิชัย โรจนเสถียร นายกสัตวแพทยสภา กล่าวว่า ผลพวงจากการใช้กฎหมายฉบับนี้ จะทำให้คลินิกสัตวแพทย์กว่า 700 แห่ง ได้รับผลกระทบ ส่วนตัวคิดว่าการดำเนินการในอดีตดีอยู่แล้ว การปรับแก้กฎหมายจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบทั้งทางบวกและลบด้วย
“เราต้องการเป็นคนดีของสังคม แต่กฎหมายทำให้สังคมสงบสุขหรือไม่ ขอความกรุณาได้ทำตามสิ่งที่ควรจะเป็น แก้ไขสิ่งที่ไม่เหมาะสมให้ถูกต้อง” น.สพ.สุวิชัย กล่าว
นายบดินทร์ ปทุมทอง นักรังสีเทคนิค โรงพยาบาลกำแพงเพชร กล่าวว่า เครื่องเอกซเรย์มีความเสื่อมทุกปี จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ จากการเก็บข้อมูลพบว่าเครื่องเอกซเรย์ Intraoral จะมีการกระเจิงของรังสีออกมามาก หากเจ้าหน้าที่มีความรู้ไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้และประชาชนได้
“ขอให้ตระหนักอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วย และที่บอกว่าอยู่ห่าง 2 เมตรจากการฉายรังสีก็ปลอดภัยแล้วนั้น ถามว่าถ้าได้รับเป็นเวลานานจะเกิดอะไรขึ้น ฝากไว้เป็นข้อคิดให้กับผู้ใช้รังสีด้วย แม้ว่าจะตั้งใจมาแก้กฎหมาย แต่ให้คำนึงถึงความปลอดภัยด้วย” นายบดินทร์ กล่าว
- 16 views