สพฉ.จัดประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน และรับฟังความคิดเห็นในโครงการ UCEP ระบุตัวเลขผู้ขอใช้สิทธิตลอด 6 เดือนมีมากกว่า 12,000 ราย ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ประมาณ 5,700 กว่าราย ที่เหลือไม่เข้าเกณฑ์ หรือประมาณ 40% ย้ำโครงการนี้มีขึ้นสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติเท่านั้น
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน และรับฟังความคิดเห็นในโครงการ UCEP ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่”
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่เรียกว่า ฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP ที่ได้มีการริเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ วันที่ 1 เม.ย.2560 โดยวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เวลาที่จะต้องไปรักษาในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ในส่วนของโรงพยาบาลของรัฐอาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้ ฉะนั้น นโยบายนี้จึงมาปิดช่องว่างดังกล่าว เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องเสียเงิน
“การรักษาตามโครงการฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP โดยไม่เสียเงิน ได้กำหนดเงื่อนไข และหลักเกณฑ์การใช้การบริการ เพราะโครงการนี้ไม่ได้มาแทน รูปแบบของการจ่ายเงินแบบเดิม เพียงแต่มาเสริมมาปิดช่องว่างที่ไม่คลอบคลุม วิธีการก็คือ ในกรณีถ้ามีการเจ็บป่วยฉุกเฉินเกิดขึ้น แนะนำให้โทร 1669 ทาง 1669 ก็จะได้ช่วยประเมิน หรือว่าช่วยส่งบุคลากร หรือส่งทีม เข้ามาประเมินแล้วส่งเข้าไปทำการรักษายังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ถ้าเข้าไปยังสถานพยาบาลของรัฐก็จะเข้าสู่กระบวนการกองทุนแบบเดิม เช่น ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สิทธิบัตรทอง ถ้าไปยังโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งอยู่นอกคู่สัญญา ในกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉิน ต้องอยู่ในระดับที่เรียกว่าฉุกเฉินวิกฤติเท่านั้น ถ้าฉุกเฉินธรรมดา ฉุกเฉินไม่รุนแรง หรือแบบทั่วไปไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้” เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ กล่าว
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวอีกว่า กรณีฉุกเฉินวิกฤติ ในความหมายคือ ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงถึงตายได้ทันที เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง หรือว่ามีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หรือว่ามีอาการตกเลือด หรือเสียเลือดอย่างรุนแรง ถ้าไม่ได้ช่วยก็จะเสียชีวิตทันที หรือที่เกิดจากสภาวะระบบประสาท ยกตัวอย่างเช่น ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกเฉียบพลัน เป็นต้น โดยเรื่องนี้ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า ในบางโรค เช่น หลอดเลือดสมองตีบนั้น ถ้าทำการดูแลภายใน 4 ชั่วโมง ถือว่ามีประโยชน์ในการรักษา แต่ถ้าเหตุเกิดขึ้นมากกว่า 4 ชั่วโมงไปแล้ว และผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ถือว่าพ้นไปในภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินไม่รุนแรง ซึ่งตรงนี้อาจจะใช้สิทธิ UCEP ไม่ได้
“กรณีการใช้สิทธิ UCEP ไม่ได้ ยังหมายรวมถึงกรณีเจ็บป่วยอยู่ภายในโรงพยาบาลอยู่แล้ว แล้วเกิดอาการแย่ลง ตรงนี้ว่าไปตามสิทธิการรักษาตามปกติ รวมถึงการส่งต่อระหว่างโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาล ก. ไปโรงพยาบาล ข.จะใช้สิทธิตรงนี้ไม่ได้เช่นกัน เว้นแต่ว่า การส่งนั้นโรงพยาบาล ก.เป็นโรงพยาบาลเอกชน แล้ว มีการเข้ากระบวนการ UCEP แล้ว แต่ว่าโรงพยาบาลก.รักษาไม่ได้ แล้วส่งไปยัง โรงพยาบาล ข.ตรงนี้ถือเป็นอีกกรณีนึง”
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ตามหลักการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินวิกฤติขึ้น ให้รีบเข้าโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ๆก่อน ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชนก็ได้ ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐ ก็ให้เข้าสู่กระบวนการการจ่ายเงิน หรือการเรียกเก็บตามแบบกองทุน ตามสิทธิที่มีอยู่ แต่ถ้าเข้าโรงพยาบาลเอกชนด้วยเหตุจำเป็นเพราะไม่มีทางเลือก กองทุนนี้ก็จะเข้าไปคุ้มครอง การคุ้มครองกรณีถ้าเข้าเกณฑ์ และเงื่อนไข ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าไปรับบริการ โดยอยู่ได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ความหมายคือ ถ้ามีการเข้าไปรักษายังโรงพยาบาลเอกชนเป็นแห่งแรก เมื่อผู้ป่วยพ้นวิกฤติภาวะฉุกเฉินแล้ว ก็ต้องย้ายเข้าโรงพยาบาลของรัฐ หรือว่า ไปตามสิทธิที่มีอยู่เช่น ประกัน สังคม บัตรทอง สิทธิข้าราชการ แต่ถ้าไม่สามารถย้ายได้ เหตุผลเพราะว่าไม่มีเตียงรองรับ หรืออาการแย่ลงจนไม่สามารถย้ายได้ กองทุนก็จะเข้ามาตามจ่าย ซึ่งตรงนี้ จะเข้าเงื่อนไขพิเศษเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวอีกว่า กรณีผู้ป่วยและสถานพยาบาล เกิดข้อพิพาท หรือมีความเข้าใจไม่ตรงกัน หรือมีจุดที่ไม่สามารถตกลงกันได้ เกี่ยวกับ กรณีการใช้สิทธิ UCEP ทาง สพฉ.จะนำเรื่องร้องเรียนนี้ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อทำการพิจารณาตัดสิน ว่าสิ่งที่ทางโรงพยาบาล และ ผู้ป่วยเอง มีความคิดหรือแนวทางเกี่ยวกับโครงการนี้ถูกต้องหรือไม่
ทั้งนี้ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา คือตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเข้าไปรักษายังโรงพยาบาลเอกชน และมีการคีย์ข้อมูลเข้ามาเพื่อขอประเมินว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่แล้ว ประมาณ 12,000 ราย ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ประมาณ 5,700 กว่าราย ที่เหลือไม่เข้าเกณฑ์ หรือประมาณ 40%
“เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิ UCEP ผมไม่แนะนำให้โทรไปที่ 1669 เพื่อไปถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเบอร์นี้ไว้สำรองสำหรับผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น แต่ถ้าอยากรู้เกี่ยวกับสิทธิที่ว่านี้ แนะนำให้โทรไปที่เบอร์ 02 872 1669 ซึ่งเป็นศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ที่คอยให้บริการถามตอบให้ความรู้ หรือ รับเรื่องร้องเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง” เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ กล่าว
น.ส.ปาริฉัตร จันทร์อำไพ ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ในส่วนการใช้สิทธิตามโรงพยาบาลเอกชน กรณีผู้ประกันตน ไม่ยอมย้ายไปตามโรงพยาบาลบำบัด หลังพ้นวิกฤติแล้ว หรือ เกินกว่า 72 ชั่วโมง โดยนับรวมวันเสาร์และอาทิตย์ ให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ประกันตน ถ้ามีโรงพยาบาลรับรองสิทธิ ก็ให้รับผิดชอบในส่วนของค่าใช้จ่ายไป ส่วนกรณีผู้ป่วยไม่มีรายชื่อหรือไม่มีบัตรผู้ประกันตน รวมไปถึง ผู้ทุพลภาพ เมื่อมารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ให้เข้าสู่ระบบหาเตียงของโรงพยาบาลรัฐได้เลย หากต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน ก็ให้มีการสำรองจ่ายไปก่อน แล้วมาทำเรื่องเบิกกับประกันสังคม
พญ.พนมวัลย์ บุณยมานพ
ด้าน พญ.พนมวัลย์ บุณยมานพ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการและชดเชยค่าบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์ ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีมีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ.2560 สปสช.มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง ของการเบิกจ่าย ตามสิทธิ บัตร ทอง ประกันสังคม รวมถึงสิทธิข้าราชการ รัฐวิสาหกิจหรือไม่ ที่ผ่านมายอมรับว่า การเบิกจ่ายในส่วนนี้อาจเกิดความล่าช้า เนื่องจากติดเงื่อนไขบางประการ อย่างไรก้อดี เราได้ดำเนินการ ปรับปรุงระบบให้การเบิกจ่ายมี ประสิทธิภาพมากขึ้น
- 49 views