“หมอเหรียญทอง” เผย ผู้ป่วยบัตรทองผ่าตัดหัวใจ รพ.มงกุฎวัฒนะได้เหมือนเดิมแล้ว ไม่ต้องส่งต่อ หลัง สปสช.ปรับประกาศหลักเกณฑ์มีศัลยแพทย์หัวใจประจำเวลาราชการ ครอบคลุมหน่วยบริการเฉพาะรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจ ระบุช่วยผู้ป่วยไม่ต้องตกอยู่ภาวะเสี่ยงวิกฤต เดือดร้อนจากค่าผ่าตัดหัวใจ

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงมาแก้ไขปัญหาประกาศหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ระบุให้ต้องมีศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจประจำในเวลาราชการ ทั้งที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ มีศัลยแพทย์หัวใจที่เป็นแพทย์เวรประจำ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหัวใจในระบบบัตรทองไม่สามารถรับการผ่าตัดที่ รพ.ได้ ซึ่งจากการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทำให้ขณะนี้ไม่มีปัญหาแล้ว เนื่องจากประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว สปสช.จะบังคับเฉพาะหน่วยบริการใหม่ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงหน่วยบริการประจำอย่าง รพ.มงกุฎวัฒนะที่มีศัลยแพทย์หัวใจประจำ 24 ชั่วโมง ทำให้คนไข้ไม่เดือดร้อน ซึ่งไม่เพียงแต่ รพ.มงกุฎวัฒนะเท่านั้น แต่รวมถึง รพ.อื่นๆ ที่เป็นหน่วยบริการประจำที่มีศักยภาพผ่าตัดหัวใจด้วย

พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวต่อว่า ขณะนี้การบริการผู้ป่วยโรคหัวใจของหน่วยบริการประจำบัตรทองได้กลับเป็นอย่างเดิมอย่างที่เคยทำมา โดยได้มีการแก้ไขไปหลายวันแล้ว ซึ่งผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องผ่าตัด หากหน่วยบริการประจำบัตรทองใดผ่าตัดหัวใจไม่ได้ก็ให้ส่งต่อ แต่หากหน่วยบริการไหนมีศักยภาพผ่าตัดได้ ก็ให้ผ่าตัดได้เหมือนเดิม ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะ มีการผ่าตัดหัวใจอยู่แล้ว ไม่เพียงแต่ผ่าตัดผู้ป่วยบัตรทองขึ้นทะเบียนกับ รพ.เท่านั้น แต่ยังรับส่งต่อจาก รพ.ปทุมธานี รพ.นครนายก เป็นต้น

“หากเปรียบกองทัพเราก็เหมือนทหารประจำการที่ได้ขึ้นทะเบียนประจำการอยู่แล้ว ซึ่งกรณีการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ สปสช.อยากให้มีหน่วยบริการเสริมเข้ามาเหมือนกับทหารกองหนุน ดังนั้นทหารประจำการจึงไม่ต้องขึ้นทะเบียนกองหนุนใหม่” ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า รพ.มงกุฎวัฒนะต้องชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วยบัตรทองของ รพ.หรือไม่ จากที่เคยออกประกาศข้อเท็จจริงไปก่อนหน้านี้ พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า คงไม่ต้องเพราะคนไข้ รพ.มงกุฎวัฒนะเองก็เข้าใจหมดแล้ว ซึ่งหลังจากนี้เป็นเรื่องที่ สปสช.ต้องไปชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ทั้งนี้ยืนยันว่าการที่ออกมาสู้ในเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะ รพ.มงกุฎวัฒนะเดือดร้อนที่จะไม่สามารถเบิกจ่ายค่าผ่าตัดหัวใจได้ แต่เพราะเรากลัวประชาชนเดือดร้อน ซึ่งการส่งต่อผ่าตัดหัวใจเป็นความเสี่ยงวิกฤต และหากผ่าตัดที่ รพ.ผู้ป่วยก็ต้องจ่ายค่ารักษาเองนับแสนบาท

ส่วนกรณีที่มีการประชุมร่วมกับ สปสช. โดยมี รมว.สาธารณสุข เป็นประธานนั้น พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาการดูแลผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยดูแลตามนโยบายพลังประชารัฐ ไม่ใช่เรื่องผ่าตัดหัวใจซึ่งจบไปแล้ว เป็นคนละประเด็นกัน