กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียลดลงอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยาอย่างเข้มข้น เปลี่ยนสูตรยารักษามาลาเรียสำหรับผู้ป่วยมาลาเรียฟัลซิปารัมชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน ยกระดับนโยบายจากควบคุมโรคเป็นกำจัดโดยพร้อมเร่งค้นหาและรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน ป่าเขา ตั้งเป้ากำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทยในปี 2567
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคไข้มาลาเรียเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีอัตราป่วยเพียง 0.28 ต่อประชากรพันคน ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ประเทศที่มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียน้อยกว่า 1 ต่อประชากรพันคน
ส่วนสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 มกราคม -15 กันยายน 2560 มีผู้ป่วย จำนวน 8,410 ราย (คนไทย 5,726 ราย ต่างชาติ 2,684 ราย) จำนวนผู้ป่วยลดลงร้อยละ 32.57 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ยะลา (2,841) ตาก (2,547) ศรีสะเกษ(663) นราธิวาส (279) แม่ฮ่องสอน (271) อุบลราชธานี (214) สงขลา (213) กาญจนบุรี (196) ปราจีนบุรี (122) และระนอง (99) ตามลำดับ
นอกจากยังพบว่า เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558, 2559 และ 2560 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยและอัตราป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ จำนวนผู้ป่วย 16,110 ราย 12,472 ราย และ 8,410 ราย ส่วนอัตราป่วย 0.25, 0.19 และ 0.13 ตามลำดับ
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับการดื้อต่อยารักษาของเชื้อมาลาเรีย ชนิดฟัลซิปารัม นั้น เมื่อปี 2558 ประเทศไทย โดยคณะกรรมการการใช้ยารักษามาลาเรียมีมติให้เปลี่ยนยารักษามาลาเรียสำหรับรักษาผู้ป่วยมาลาเรียฟัลซิปารัมชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากยาอาร์ติซูเนต-เมโฟควิน เป็นยาไดไฮโดรอาร์ติมิซินิน-ไปเปอร์ราควิน ซึ่งทางกรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยาดังกล่าว ในการรักษาผู้ป่วยมาลาเรียฟัลซิปารัมที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ในจังหวัดกาญจนบุรี อุบลราชธานี และระนอง พบว่า ปี 2558-2559 จังหวัดกาญจนบุรี มีอัตราการรักษาหายขาดร้อยละ 94.4 และจังหวัดอุบลราชธานี และระนอง มีอัตราการรักษาหายขาดร้อยละ 100
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนนโยบายจากการควบคุมโรคไข้มาลาเรียเป็นการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ตั้งแต่ปี 2560 โดยมีเป้าหมายกำจัดโรคไข้มาลาเรียรวมถึงเชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยารักษาให้หมดไปภายในปี 2567 ซึ่งยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทยกำหนดให้ผู้ป่วยมาลาเรียทุกรายจะต้องได้รับยารักษามาลาเรียและการติดตามผลการรักษาครบ และให้ถือว่าการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยาเป็นงานในระบบปกติ ส่วนมาตรการสำคัญ คือ
1.การค้นหาและให้การรักษาผู้ป่วย โดยมาลาเรียชุมชน มาลาเรียคลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการติดตามผลการรักษาโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประชาชนในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียจะได้รับการคุ้มครอง
2.ป้องกันยุงพาหะนำโรค โดยแจกมุ้งชุบสารเคมีเพื่อป้องกันยุงทุกหลังคาเรือน เป็นต้น
โรคไข้มาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงชนิดนี้ส่วนใหญ่พบตามชายแดน ป่าเขา พื้นที่สวนต่างๆ และออกหากินเวลากลางคืน ส่วนในเขตเมืองและพื้นที่ทั่วไปพบได้น้อยมาก สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่อยู่แล้วหรือผู้ที่เดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่ดังกล่าว ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในห้องที่มีมุ้งลวด หรือกางมุ้ง ทายากันยุง เป็นต้น ที่สำคัญภายหลังกลับจากป่า ถ้ามีไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อนหนาวและเหงื่อออก ขอให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้านทันที เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียและขอให้แจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปพักค้างคืนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว หากไปพบแพทย์ช้าผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย อาจเสียชีวิตได้
ประชาชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 41 views