“กรมอนามัย” ชี้ คนไทยคุมกำเนิดครอบคลุม 80% แต่ยังพบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมอื้อ ผงะ! เกินครึ่งของคนทำแท้งอายุเกิน 25 ปี ด้าน “นายกสมาคมวางแผนครอบครัว”ระบุ วัยรุ่นชายเมินใช้ถุงยางอนามัย ย้ำเทคโนโลยีการคุมกำเนิดพัฒนาทุกด้าน การใช้ยาเม็ดมีความปลอดภัย-ลดกระทบสุขภาพได้
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและการคุมกำเนิดในประเทศไทย ภายในงานแถลงข่าว “คุมกำเนิดไทยในยุค 4.0” เนื่องในวันคุมกำเนิดโลก 2017 (World Contraception) เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2560 ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีนโยบายการวางแผนครอบครัวมาร่วม 50 ปี ส่งผลให้อัตราการคุมกำเนิดสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันครอบคลุมถึง 80%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราการคุมกำเนิดอยู่ในระดับสูงแต่ก็ยังพบปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและการทำแท้งในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน แต่จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมอนามัยพบอีกว่ามากกว่า 50% ของผู้ที่ทำแท้งมีอายุมากกว่า 25 ปี นั่นสะท้อนว่าจำเป็นต้องให้ความรู้และจัดบริการให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัย
“ทุกวันนี้สังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก การตั้งครรภ์ในเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ภาพรวมของการเกิดกลับน้อยลง โดยในอดีตอัตราการเกิดอยู่ที่ 1 ล้านราย ปัจจุบันเหลือเพียง 7 แสนราย แต่ใน 7 แสนรายนี้ มีถึง 1 แสนรายที่เกิดโดยแม่ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือเฉลี่ยวันละ 252 ราย มากไปกว่านั้นก็คือยังพบปัญหาการคลอดซ้ำในกลุ่มวัยรุ่นมากถึง 12%” นพ.กิตติพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ สธ.ได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มวัยรุ่นเข้าถึงการคุมกำเนิดทุกวิธี โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหลังคลอดเข้าถึงการคุมกำเนิดกึ่งถาวร โดยสามารถขอรับบริการฟรีได้จากสถานบริการทุกแห่งที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.
ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวถึงการคุมกำเนิดไทยในยุค 4.0 ว่า วิวัฒนาการของการคุมกำเนิดเริ่มตั้นขึ้นเมื่อ พ.ศ.2500 โดยยาเม็ดคุมกำเนิดเม็ดแรกเกิดขึ้นในยุโรป ก่อนจะขยายเข้าสู่สหรัฐอเมริกา จากนั้นก็มีการพัฒนาไปสู่ยาฉีดคุมกำเนิด ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นทั้ง 2 วิธีได้เข้ามาประมาณ พ.ศ.2510 จากนั้นก็มีการพัฒนาไปสู่ห่วงอนามัย ยาฝังคุมกำเนิด แหวนคุมกำเนิด การทำหมันถาวร
ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการคุมกำเนิดขึ้นทุกด้าน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนต่ำ มีความปลอดภัย และเป็นธรรมชาติที่สุด โดยยาเม็ดบางชนิดสามารถช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือนได้ ขณะที่ยาฉีดมีการพัฒนาจากที่ต้องฉีด 3 เดือน เหลือเพียง 1 เดือน และลดขนาดจาก 3 ซีซี เหลือเพียง 1 ซีซีเท่านั้น ส่วนยาฝังคุมกำเนิด เดิมทีต้องใช้มากถึง 6 หลอด เพื่อคุมกำเนิดใน 5 ปี ปัจจุบันใช้เพียง 2 หลอด คุมได้ 5 ปี หรือ 1 หลอด คุมได้ 3 ปี หรือแม้แต่ห่วงอนามัย ในอดีตเป็นห่วงที่มีทองแดง ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นห่วงที่มีฮอร์โมนเพื่อลดประจำเดือนและอาการปวด รวมทั้งช่วยรักษาโรคบางโรคได้
“ในอนาคตจะมียาเม็ดคุมกำเนิดที่มีขนาดน้อยลง มีการกินที่น้อยลง ในอนาคตอันใกล้อาจจะมียาที่เกินเพียง 1 สัปดาห์ แต่สามารถใช้คุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะต้องกินทั้งเดือนเหมือนปัจจุบัน” ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเพศชาย พบว่าจำเป็นต้องมีการรณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัยให้มากขึ้น เพราะเป็นวิธีการที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ โดยผลการสำรวจพบว่าวัยรุ่นเพศชายเกินครึ่ง หรือเกิน 50% มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
พญ.ปานียา สูตาบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัทไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวถึงการรณรงค์การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ว่า ปัจจุบันบริษัทไบเออร์ไทยได้วิจัยการคุมกำเนิดด้วยการปรับฮอร์โมนให้เหมาะสมกับธรรมชาติที่สุด โดยมีเจตนารมณ์ในการร่วมกันลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนซึ่งพบการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และตั้งครรภ์ซ้ำซาก
ทั้งนี้ เว็บไซต์ www.your-life.com ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลด้านการวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิด ได้เผยแพร่รายงาน “วัยรุ่นกับการคุมกำเนิด” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10ปี วันคุมกำเนิดโลก โดยระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้หญิงตั้งครรภ์ 208 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 41% ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และเกือบ 50% ตัดสินใจทำแท้ง
สำหรับสถานการณ์ประเทศไทย มีการสำรวจความคิดเห็นวุยรุ่นอายุ 13-25 ปี จำนวน 201 คน พบว่า วัยรุ่น 87.1% ทราบถึงความสำคัญของการคุมกำเนิด แต่ 60.2%ของผู้มีเพศสัมพันธ์ กลับไม่มีการคุมกำเนิด โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการทำลายความสนุก ไม่มีเครื่องมือ ลืม และมั่นใจว่าจะไม่ตั้งครรภ์
- 676 views