แพทย์โรคไตเผยผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับการล้างไตทางช่องท้อง เตือนให้ระวังอย่ากังวลมากจนสูญเสียโอกาสในการรักษา ชี้การล้างไตทางช่องท้องไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ให้ผลการรักษาใกล้เคียงกับการฟอกเลือด และช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ สามารถทำงานและประกอบอาชีพได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทางไปรับการรักษาที่สถานพยาบาล ส่วนค่ารักษาก็สามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคม หรือบัตรทองได้
ผศ.นพ.โอภาส ไตรตานนท์
ผศ.นพ.โอภาส ไตรตานนท์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า การล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง (CAPD) เป็น 1 ใน 3 วิธี ในการรักษาบำบัดทดแทนไต สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย นอกเหนือจากการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยหลักการของการล้างไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยจะได้รับการวางสายเพื่อใส่น้ำยาฟอกเลือดที่ผนังหน้าท้อง วิธีการคือผู้ป่วยจะใส่น้ำยาฟอกเลือดเข้าไปในช่องท้องและเปลี่ยนถ่ายน้ำยาเข้าออกวันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้ป่วยบางรายยังมีความเข้าใจหรือความเชื่อผิดๆ ว่ามีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย หรือมีโอกาสเสียชีวิตได้ง่ายจากการล้างไตทางช่องท้อง เพราะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จนปฏิเสธการรักษาหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า จนทำให้เกิดผลแทรกซ้อนของโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายตามมา ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้
“หมออยากแนะนำว่า อย่ากังวลและไม่ต้องกลัวในการเข้ารับการรักษา เพราะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หากได้รับการบำบัดทดแทนไตอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งการล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีการบำบัดทดแทนไตที่ดีวิธีหนึ่งที่ให้ผลการรักษาใกล้เคียงกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เป็นการรักษามาตรฐานที่มีมานานแล้ว และในบางประเทศก็ใช้เป็นวิธีการรักษาหลักของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้รักษาด้วยวิธีนี้แล้วกว่า 20,000 ราย และมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี”
“จนในปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยใหม่ที่เข้ารับล้างไตทางช่องท้องในปริมาณใกล้เคียงกับผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องด้วยตัวเองที่บ้านหลายคนที่หมอดูแลรักษาอยู่ก็พบว่าเขามีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยๆ และที่สำคัญคือไม่น่ากลัวอย่างที่คิดหรือเคยได้ยินมา ส่วนเรื่องการติดเชื้อขึ้นกับเทคนิคการทำและวิธีการปฏิบัติตัว ซึ่งโดยปกติแล้วทางโรงพยาบาลจะมีแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญทำการสอนผู้ป่วยอย่างละเอียดถึงขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งให้ทำให้ดูว่าทำได้ถูกต้องและสะอาดจริง มีการกำชับและติดตามขั้นตอนวิธีการทำสม่ำเสมอ ถ้าผู้ป่วยใส่ใจและตั้งใจทำตามที่หมอและพยาบาลบอกอย่างเคร่งครัดโอกาสติดเชื้อหมอว่ามีน้อยมาก” ผศ.นพ.โอภาส กล่าว
นางกาญจนา เมืองแสน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง กำลังล้างไตทางช่องท้องในรถระหว่างไปขายของ
นางกาญจนา เมืองแสน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง วัย 42 ปี เล่าว่า ตนรักษาด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองที่บ้านมาแล้วกว่า 10 ปี ยังไม่เคยเจอปัญหาการติดเชื้อ สิ่งสำคัญคือต้องทำตามที่หมอสั่งอย่างตั้งใจไม่ให้ขาด โดยเฉพาะเรื่องการรักษาความสะอาด จึงอยากเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ป่วยแล้วก็ต้องรักษา แต่เราต้องไม่ท้อแท้ ทราบว่าเป็นโรคไตตอนอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ตั้งท้องลูกคนที่สอง ปัจจุบันอายุ 42 ปี รักษามาสิบกว่าปีชีวิตก็ยังอยู่ดี และจะอยู่ต่อไปอีกนานๆ ดูลูกของเราเติบโตซึ่งตนก็ได้ไปลงคิวรอรับการบริจาคไตกับสภากาชาดไทยไว้ด้วย
“ด้วยสิทธิการรักษา 30 บาทก็ช่วยเราให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้มาก เราเลือกการล้างไตทางช่องท้อง ไม่ต้องมาหาหมอบ่อยด้วย 2-3 เดือนครั้ง แล้วแต่คุณหมอจะนัด ดูแลรักษาตามอาการ เราก็มีหน้าที่บันทึกการรักษาต่างๆ ที่ได้ทำเองมาให้คุณหมอดู กินยาอย่างไร ล้างแผลอย่างไร โชคดีที่สามีช่วยทำแผลให้เราทุกวัน ดูแลกันก็ให้กำลังใจกันทุกวัน ความรู้สึกว่าเป็นคนป่วยมันก็หายไป ตื่นเช้าอาบน้ำแต่งตัวให้ลูก ทำกับข้าว ส่งลูกไปโรงเรียน ล้างไตตอนเช้าแล้วก็ออกไปขายของ นั่งรถกระบะไปขายหอมกระเทียมทั้งวัน ไปตามหมู่บ้านต่างๆ ถึงเวลาต้องล้างไต ก็ไปจอดรถในที่เงียบๆ แล้วก็ล้างไตด้วยตัวเองตามปกติ เสร็จแล้วก็ไปขายของต่อ กลับบ้านไป ก็เตรียมอาหารให้ลูกๆ ล้างไตก่อนนอนอีกที ชีวิตก็มีความสุขดี ช่วงวันหยุดก็ไปเที่ยวได้ สนุกสนานกับลูกๆ ในทุกช่วงเวลาของชีวิตได้”
พว.ธนารักษ์ บุญเกิด
ด้าน พว.ธนารักษ์ บุญเกิด พยาบาลวิชาชีพ งานการพยาบาลผู้ป่วยโรคไตและไตเทียม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผู้ดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมากว่า 8 ปี กล่าวให้ความเห็นว่า ผู้ป่วยที่เข้ามาทำล้างไตทางช่องท้องในตอนแรก มักจะไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งทาง งานการพยาบาลผู้ป่วยโรคไตและไตเทียม รพ.ธรรมศาสตร์ ได้จัดกลุ่มให้ผู้ป่วยโรคไตและญาติได้แชร์ประสบการณ์รับรู้เรื่องราวของเพื่อนผู้ร่วมโรคเดียวกัน ทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นและตั้งใจที่จะ เรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองและการล้างไตทางช่องท้องอย่างถูกต้อง จนเขาสามารถทำได้ ดูแลตัวเองได้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของพวกเขา สามารถออกไปข้างนอก และใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ ทัศนคติที่กังวลกับการรักษาก็จะเริ่มเปลี่ยนไป และผู้ป่วยเหล่านี้ได้กลายมาเป็นผู้ที่คอยให้กำลังใจคนไข้รายใหม่ที่เข้ามารักษาด้วย
ทั้งนี้ ผศ.นพ. โอภาส ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า เมื่อป่วยเป็นโรคไตแล้วควรต้องรีบรักษา และพบแพทย์เป็นประจำอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจติดตามการทำงานของไตเป็นระยะ และต้องมีการควบคุมอาหารอย่างใกล้ชิด ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนผู้ที่ยังไม่เป็น อย่านิ่งนอนใจ เพราะโรคไตเป็นได้ทุกช่วงอายุ และปกติโรคไตจะพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เป็นมานาน และได้รับการรักษาไม่สม่ำเสมอ จึงต้องระมัดระวัง และต้องติดตามการรักษาต่อเนื่องกับแพทย์โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบ หรือโรคติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตให้ดีตามเป้าหมาย เพื่อป้องกันหรือชะลอให้ไตเสื่อมช้าที่สุด
และหากมีอาการที่บ่งบอกว่าอาจป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง เช่น ปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีสีแดงคล้ายน้ำล้างเนื้อ (เกิดจากมีเลือดปนมาในปัสสาวะ), ปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ (เกิดจากมีโปรตีนหรือไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ), ปัสสาวะบ่อยช่วงกลางคืน หรือมีอาการบวมที่หน้า หนังตา หรือบวมที่ขา ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะคิดว่าอาการไม่มากและอาการหายไปเอง โรคไตบางชนิดเมื่อรู้ตั้งแต่แรกเริ่มอาจจะรักษาได้หายเป็นปกติหรือชะลอไม่ให้ไตเสื่อมลงรวดเร็วจนเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย สุดท้ายนี้ก็ขอให้ทุกคนหมั่นดูแลสุขภาพของตัวเอง และอย่าละเลยเรื่องตรวจสุขภาพประจำปีในคนที่อายุมากขึ้น เพราะถ้าสุขภาพร่างกายแข็งแรง ก็จะห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ อย่างแน่นอน
- 3187 views