ในยามเจ็บป่วย ผู้คนหันไปพึ่งยารักษามากกว่าไปพบแพทย์เพราะสามารถเข้าถึงยาได้เองในหลากหลายช่องทาง อย่างไรก็ตาม ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ยาแบบผิดๆเนื่องจากความไม่เข้าใจผลจากการใช้ยา หรือเข้าใจว่ายาไม่ก่อโรค โรคที่เกิดจากการใช้ยาจึงเป็นความเจ็บป่วยในยุคปัจจุบันที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ยารักษาตัวเองแบบผิดๆ

“โรคยาทำ” เป็นคำที่มักใช้เรียกรวมๆ ถึงอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดมาจากยาที่ใช้เพื่อป้องกัน รักษา หรือบรรเทาโรคหรืออาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง แต่กลับทำให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยอีกอย่างหนึ่งตามมา กล่าวได้ว่า “โรคยาทำ” มักเกิดจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เช่น

การใช้ยาชุด เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยจากการทำงานหนักจนกระทั่งเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือเกิดภาวะต่อมหมวกไตฝ่อจากการใช้ยาชุดที่มีสเตียรอยต์ผสมอยู่ติดต่อกันเป็นเวลานาน

การใช้ยาซ้ำซ้อนจากยาที่ออกฤทธิ์แบบเดียวกัน หรือที่มีชื่อสามัญทางยาชื่อเดียวกันจนเกิดอาการข้างเคียงจากการได้รับยาเกินขนาด เช่น การรับประทานยาแก้ไข้หวัดสูตรผสม ควบคู่กับยาคลายกล้ามเนื้อตัวหนึ่ง ซึ่งต่างก็มียาพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ หากผู้ป่วยได้รับอย่างต่อเนื่องติดต่อกันก็อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะตับวายได้

การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้ออย่างพร่ำเพรื่อ ไม่สมเหตุผลทำให้เกิดภาวะของการดื้อยาจนต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงขึ้น ราคาแพงขึ้นและต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงที่มากขึ้น หรือถ้าโชคร้ายอาจถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องจากไม่มียาที่จะใช้รักษาภาวะติดเชื้อนั้นได้

อย่างไรก็ตาม “โรคยาทำ” อาจเป็นอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาหรืออาการข้างเคียงจากการใช้ยาก็ได้ ทั้งนี้การจะลดความเสี่ยงจากอาการไม่พึงประสงค์จากยานั้น ผู้ใช้ยาจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับยาที่ตนได้รับ เช่น ผู้ป่วยโรคปวดข้อเข่าเสื่อมที่ต้องใช้ยาบรรเทาอาการปวดอักเสบข้อกลุ่มเอ็นเสต(NSAIDs: Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs)เป็นประจำ จะต้องรับประทานยาตัวนี้หลังอาหารทันที เพื่อลดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารจากยาดังกล่าว เป็นต้น

ปัญหาจากการใช้ยาแบบผิดๆ จะไม่เกิดขึ้นหากคนทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยา โดยปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งก่อนการใช้ยาเพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงจากอาการไม่พึงประสงค์ของยา และลดความเสี่ยงในการเกิด “โรคยาทำ”

หลัก 5 ประการที่ควรคำนึงก่อนการใช้ยา

ใช้ยาถูกโรค: ผู้ใช้ยาควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์หรือคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนที่จะใช้ยาเพื่อให้ได้ยาที่เหมาะสมกับโรค รวมถึงระยะเวลาการใช้ยาที่เหมาะสม ทั้งนี้ไม่ควรซื้อยาตามคำบอกเล่าของคนอื่น หรือคำโฆษณาชวนเชื่อเพราะโรคหรืออาการป่วยของคนอื่นนั้นอาจไม่ตรงกับอาการป่วยที่เราเป็น ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ผลในการรักษาแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรืออันตรายอื่นๆตามมาได้

ใช้ยาถูกคน : บุคคลที่จะใช้ยาเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ยาที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ โรคไต โรคโลหิตจางทาลัสซีเมีย โรคพร่องเอนไซม์ จี-6-พีดี เป็นต้น ทั้งนี้รวมไปถึงประวัติการใช้ยาและประวัติการแพ้ยาด้วย

ใช้ยาถูกเวลา : ยาแต่ละตัวมีช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ต่างกันออกไป เพื่อให้ยานั้นมีประสิทธิภาพในการรักษาและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้รวมไปถึงการปฏิบัติตนที่ถูกต้องและขณะใช้ยาจะต้องหลีกเลี่ยงอาหาร หรือยาอะไร เป็นต้น

ใช้ยาถูกขนาด : แพทย์หรือเภสัชกรจะเป็นผู้แนะนำขนาดของยาที่เหมาะสมในการรักษา ผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดไม่ควรปรับเพิ่ม หรือปรับลดขนาดยาด้วยตัวเองกรณียาน้ำควรใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยาเพื่อให้ได้ขนาดยาตามที่ระบุ

ใช้ยาถูกวิธี : ยาแต่ละชนิดจะมีวิธีการใช้ยาแตกต่างกันตามรูปแบบของยาโดยอาจจำแนกประเภทของยาได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1) ยาใช้ภายนอก ได้แก่ ยาใช้หยอด (เช่น ยาหยอดตา/หู/จมูก) ยาใช้ทา (เช่น ยาครีม/ขี้ผึ้ง) ยาถูนวด (เช่น ยาหม่อง) ยาใช้โรย (เช่น ยาผงโรยแผล)

2) ยาใช้ภายใน ได้แก่ ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาผง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมียาที่มีวิธีใช้พิเศษ เช่น ยาป้ายตา ยาเหน็บทวารหนัก ยาเหน็บช่องคลอด ยาพ่นจมูก ยาฉีดอินซูลิน เป็นต้น

กล่าวได้ว่า การเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อน และเป็นการยากที่ประชาชนทั่วไปจะพิจารณาได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับคำแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสมจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนที่จะใช้ยาเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ยาเอง

เก็บความจาก

ภก.วีระชัย นลวชัย และคณะ (2557). นานาสารพันยา. นนทบุรี: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข.