มูลนิธิศุภนิมิตทดลองโมเดล ‘Saving Group’ กลุ่มออมทรัพย์หรือกองบุญของแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ช่วยแก้ปัญหาไม่มีเงินค่ารักษาได้ ชี้มีแรงงานข้ามชาติแค่ 1 ใน 3 ที่มีบัตรประกันสุขภาพ แนะรัฐปรับนโยบายเปิดขายประกันตลอดทั้งปีและไม่ควรผูกกับใบอนุญาตทำงาน ส่วนกลุ่มที่โดนนายจ้างหลบเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม ให้ใช้โรงพยาบาลเป็นจุดคัดกรอง หากมีแรงงานมารับบริการแล้วพบว่ายังไม่ได้เข้าประกันสังคม ให้ไล่บี้นายจ้างและเริ่มนับหนึ่งเข้าระบบทันที
นายชูวงศ์ แสงคง ผู้จัดการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จ.ระนอง เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ในการทำงานกับแรงงานข้ามชาติพบว่ายังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ยังปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยในส่วนของแรงงานที่อยู่ในข่ายต้องเข้าระบบประกันสังคมพบว่ามีนายจ้างจำนวนหนึ่งที่หลบเลี่ยงไม่ยอมขึ้นทะเบียนให้กับลูกจ้างเนื่องจากไม่ต้องการจ่ายเงินสมทบ ขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าประกันสังคม ก็มีเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดที่ซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข
นายชูวงศ์ กล่าวว่า สาเหตุที่มีแรงงานเพียง 1 ใน 3 ที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ เนื่องจากการขายประกันสุขภาพจะเปิดขายเป็นช่วงๆ เช่นรอบล่าสุดมีเวลาให้ซื้อ 2-3 เดือน ทำให้คนที่เข้าประเทศหลังจากนั้นไม่สามารถซื้อได้ ต่อให้อยากซื้อโรงพยาบาลก็ไม่ขายให้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการซื้อบัตรประกันสุขภาพรอบล่าสุดถือว่าแพงสำหรับแรงงานข้ามชาติและหลายโรงพยาบาลใช้วิธีว่าถ้าจะซื้อต้องซื้อทั้งครอบครัว ดังนั้นหากครอบครัวมี 2-3 คน ก็ถือเป็นเงินก้อนใหญ่จนไม่สามารถซื้อได้ ซึ่งกลุ่มที่ไม่มีบัตรประกันสุขภาพนี้ต้องจ่ายเงินเองเมื่อเข้ารับบริการ และในกรณีไม่มีเงินเพียงพอก็จะเป็นปัญหาที่โรงพยาบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่าย
นายชูวงศ์ กล่าวอีกว่า โมเดลที่มูลนิธิศุภนิมิตใช้ทำงานกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ จ.ระนอง จ.พังงา จ.ภูเก็ต และ อ.แม่สอด จ.ตาก จะใช้การตั้งกลุ่มออมทรัพย์หรือ Saving Group ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติไว้ หากเกิดกรณีมีแรงงานที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพอะไรเลยและไม่สามารถจ่ายเงินค่ารักษาได้ ก็จะใช้วิธีการเจรจากับกลุ่มงานด้านสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และค่าใช้จ่ายที่เหลือหากแรงงานยังจ่ายไม่ได้อีก ก็จะกลับมาที่ Saving Group เพื่อนำเงินนี้ไปช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย
“Saving Group เป็นอีกหนึ่งโมเดลหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเราก็เคยหารือแนวคิดนี้กับเอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่อื่นๆ แต่ปัญหาคือเรื่องนี้ต้องใช้เวลาและอาศัยการเกาะติดพื้นที่ของคนทำงาน รวมทั้งต้องศึกษาวิธีคิดของกลุ่มแรงงานในพื้นที่ อย่างในพื้นที่ที่เราทำงานจะใช้ชื่อว่า “กองบุญ” เพราะคนพม่าชอบทำบุญ เราก็เปลี่ยนวิธีว่าแทนที่จะไปทำบุญกับวัดก็มาออมเงินออมบุญไว้ช่วยคนได้ไหม”ชูวงศ์ กล่าว
นายชูวงศ์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้แรงงานข้ามชาติมีการเข้าถึงบริการและมีหลักประกันด้านสุขภาพมากขึ้น อยากจะเสนอให้รัฐปรับปรุงนโยบายบางประการ โดยในส่วนของแรงงานที่ต้องเข้าระบบประกันสังคมนั้น ควรใช้โรงพยาบาลเป็นจุดสแกน กล่าวคือหากมีแรงงานมารับบริการที่โรงพยาบาลแล้วพบว่านายจ้างหลีกเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ ก็ให้เรียกนายจ้างมาลงโทษและให้ลูกจ้างเริ่มนับหนึ่งเข้าระบบประกันสังคมเสียเลย
ขณะเดียวกัน ในส่วนของกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายในการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและต้องซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขนั้น อยากเสนอว่าการขายประกันสุขภาพไม่ควรผูกติดกับใบอนุญาตทำงาน ไม่ควรผูกติดกับสถานภาพทางกฎหมาย เพราะถึงอย่างไรแรงงานเหล่านี้ก็เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว นอกจากนี้การเปิดขายประกันสุขภาพ ควรเปิดขายได้ตลอด เพราะหากจำกัดว่าซื้อได้แค่ช่วงเดียว คนที่เข้าเมืองมาทีหลังก็ซื้อไม่ได้ รวมทั้งควรยืดหยุ่นในการจ่าย เช่น อาจให้ผ่อนจ่าย หรือขายประกันสุขภาพที่คุ้มครอง 3-6 เดือน เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายถูกลงและตัวแรงงานมีกำลังซื้อได้
- 71 views