สธ. สปสช. และองค์การเภสัชกรรม แถลงข่าว ยืนยัน รพ.ราชวิถีมีศักยภาพเพียงพอในการจัดซื้อยาปี 2561 ประชาชนไม่มีปัญหาขาดแคลนยา เตรียมข้อเสนอในการจัดซื้อยาปีงบประมาณ 2561 เสนอ ครม.ในวันอังคารที่ 5 ก.ย.นี้
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี แถลงข่าว การจัดซื้อยาในปีงบประมาณ 2561
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากบอร์ด สปสช.มีมติมอบให้ รพ.ราชวิถีเป็นผู้จัดซื้อ ทำให้ภาคประชาชนมีความกังวลว่าอาจเกิดปัญหาขาดยา และผิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วง ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีช่วยให้ความมั่นใจประชาชน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า รู้สึกขอบคุณความห่วงใยของทุกฝ่ายทั้งตัวแทนผู้ติดเชื้อเอชไอวี และภาคประชาสังคม เข้าใจดีว่าต้องเกิดความกังวลเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ แต่ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีศักยภาพที่จะดำเนินการได้ ประชาชนไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดปัญหาขาดยา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอการจัดซื้อยาโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่ปรึกษา ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน คณะกรรมการเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สปสช. องค์การเภสัชกรรม กระทรวงกลาโหม กทม. คณะแพทยศาสตร์ รพ.ศิริราช รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ กรมที่เกี่ยวข้อง สตง. สำนักงานประกันสังคม นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ขณะนี้ได้มีข้อเสนอในการจัดซื้อยาปีงบประมาณ 2561 เสนอ ครม.ในวันอังคารหน้า
สำหรับข้อกังวลว่าการให้โรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการจะผิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผอ.องค์การเภสัชกรรม เลขาธิการสปสช. สตง. และกรมบัญชีกลาง ได้เข้าพบหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สตง. และกรมบัญชีกลางยืนยันว่าสามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย สปสช.จะต้องส่งเงินให้สถานบริการ ดังนั้นคนซื้อยาจึงต้องเป็นโรงพยาบาล ซึ่งควรเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีประสบการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งการจัดซื้อยาใหม่นี้ ได้มีการนำระบบเดิมของ สปสช.มาใช้ทุกอย่าง เพียงแต่เปลี่ยนผู้ดูแลให้ รพ.ราชวิถีรับผิดชอบดำเนินการแทน เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลส่วนกลาง ตรงตามระเบียบของกรมบัญชีกลางที่ระบุให้อำนาจสถานพยาบาล เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ และส่งต่อให้ อภ.เป็นผู้กระจายยาเหมือนเดิม
โดยขณะนี้ โรงพยาบาลราชวิถีได้เตรียมสถานที่ในโรงพยาบาล เป็นสำนักงานร่วมของกระทรวงสาธารณสุข สปสช. และองค์การเภสัชกรรม เพื่อประสานงาน แก้ไขและลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะเริ่มต้น จะเปิดในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการควบคุมกำกับ ติดตามประเมินผล เพื่อเป็นข้อเสนอในปีต่อไป ซึ่งอยากให้ตัวแทนผู้ติดเชื้อ เครือข่ายต่างๆ และภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย
- 3 views