เบลเยี่ยมศึกษาดูงานบริหารจัดการระบบสุขภาพอำเภอ (DHML) ผอ.รพ.อาจสามารถ ย้ำความสำเร็จอยู่ที่ประสานภาคี ให้ประชาชนเป็นเจ้าของ ข้าราชการแค่เติมส่วนที่ขาด
วันที่ 22 สิงหาคม 2560 ณ โรงพยาบาลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด มีการประชุมและลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้บริการคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster: PCC) ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนแอนท์เวิร์บ (Institute of Tropical Medicine, Antwerp) ประเทศเบลเยี่ยม และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความร่วมมือของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมี นพ.ธารา รัตนอำนวยศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาจสามารถ, พญ.รัชฎาพร สีลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองฮี, ตัวแทนโรงพยาบาลศรีสมเด็จ และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ อสม. ให้การต้อนรับ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานในพื้นที่
นพ.ธารา รัตนอำนวยศิริ
นพ.ธารา กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายการขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System: DHS) เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อให้การดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการ และการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ และเหมาะสมโดยการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และนำมาสู่การบริหารจัดการระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System Management Learning: DHML) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะการบริหารจัดการระบบสุขภาพอำเภอ นั้นกลุ่มโรงพยาบาลอาจสามารถ ศรีสมเด็จ หนองฮี ได้ร่วมกันพัฒนามาตั้งแต่ต้นจนมีผลสำเร็จมาในปัจจุบัน ซึ่งที่เข้ามาทำงานสร้างสุขภาพในชุมชนนั้นบุคคลสำคัญที่จะทำให้เกิดยั่งยืน คือประชาชนได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ข้าราชการเป็นเพียงผู้เติมเต็มในส่วนที่ขาดเท่านั้น
นพ.ธารา กล่าวว่า โรงพยาบาลอาจสามารถ เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง มีแพทย์ประจำ 7 คน โดยโรคหลัก คือ เบาหวานความดัน โรคหลอดเลือดสมอง และพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งโรงพยาบาลได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันทำงานในเชิงรุกเพื่อป้องกันโรคในพื้นที่ และมีงานเชิงรับด้วยการลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ด้วยการส่งผู้ป่วยที่มมีอาการคงที่กลับไปดูแลที่บ้าน และให้ รพ.สต. ดูแลผู้ป่วย ในพื้นที่ เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูแลผู้ป่วยเบาหวานความดัน
นพ.ธารา กล่าวต่อว่า การดำเนินงานลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้านผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง (LTC) สิ่งที่คำสัญมากคือภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) เพราะการทำงานกับภาคีเครือข่าย ใช้ความสามารถในการเป็นแพทย์น้อยกว่าการใช้ความสัมพันธ์และความไว้วางใจในทีมงาน ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงส่วนใหญ่คือผู้ป่วยที่เคยเดินเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลมาก่อน จึงรู้จัก และให้ความไว้วางใจในการให้ทีมงานสหวิชาชีพเข้าไปรักษาดูแลที่บ้าน
นพ.ธารา กล่าวว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำงานร่วมกับพื้นที่ การทำงานรักษาในโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เข้าใจในกระบวนการรักษาทั้งหมดได้ ดังนั้นแพทย์ และบุคลากรจึงต้องออกไปเรียนรู้ร่วมกับทีมงาน ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพราะจะทำให้ทราบข้อจำกัด แนวทางการดูแลรักษาในกลุ่มผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ซึ่งในพื้นที่เทศบาลอาจสามารถทางโรงพยาบาลได้ประสานการทำงานกับเทศบาลในการดำเนินงานเป็นอย่างดี ผู้ดูแลผู้ป่วย (Care giver) และ ผู้จัดการระบบการดูแล (Care Manager) จะเข้ามาดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่การให้การดูรักษาด้านสุขภาพร่างกาย การทำกายภาพบำบัด ดูแลสิ่งแวดล้อม บางรายที่เป็นผู้สูงอายุอยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลานดูแล ก็ต้องดูแลไปถึงการซักผ้า ถูบ้าน ให้ด้วยทำให้ผู้ที่เข้าไปดูแลนั้นเป็นเหมือนญาติสนิท
“เมื่อเราไปที่บ้านของคนป่วย แม้ว่าเราจะไม่ได้คาดหวังว่าจะเจออะไรมากเท่าไหร่นัก แต่ทุกครั้งที่เราได้เข้าไปเยี่ยมไปดูแลผู้ป่วยเราจะได้เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การรักษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาตัวเองจากข้างในที่ได้เห็นความเป็นไปของผู้ป่วย เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด” นพ.ธารา กล่าวและว่า การสร้างความแรงจูงใจให้ทีมงานเข้ามาร่วมงานในพื้นที่ นั้น คือ การให้ทีมงานได้เข้ามาทำงานและได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เมื่อได้ผลออกมาจะทำให้ทีมงานมีความภาคภูมิใจในงานที่ทำ และอยากเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ
พญ.รัชฎาพร สีลา
ด้าน พญ.รัชฎาพร สีลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองฮี กล่าวว่า การเรียนเวชศาสตร์ครอบครัว ทำให้แพทย์เปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมเน้นการรักษาในโรงพยาบาลเป็นการให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาที่บ้านมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากการให้นักศึกษาแพทย์ได้มาศึกษา เรียนรู้การเยี่ยมบ้านในโรงพยาบาลเกษตรวิสัย ซึ่งทำให้นักศึกษาแพทย์ได้เปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่เห็นว่าการรักษาโรงพยาบาลสำคัญที่สุด เป็นการออกไปชุมชน ไปเยี่ยมบ้าน การออกเยี่ยมบ้านทำให้หมอได้เรียนรู้ศักยภาพของชุมชน ประกอบกับการที่โรงพยาบาลเกษตรวิสัยมีคลินิกที่ให้คนไข้กลุ่มติดบ้านติดเตียงมาพบโดยเฉพาะ ก็จะช่วยยกระดับการดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้มาก
“การออกเยี่ยมบ้าน ทำให้แพทย์ที่มาฝึกงานได้เห็นความเชื่อมโยงของการรักษาพยาบาล กับการดูแลรักษาที่บ้าน ว่าช่วยรักษาผู้ป่วยได้จริง การสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ในใจของหมอจะทำให้ไม่ว่าหมอคนนี้จะไปอยู่ที่ไหน หรือไปอยู่สถานการณ์ใด จะคิดว่าได้จะต้องเชื่อมโยงกับการทำงานรักษาในโรงพยาบาลกับบ้านและชุมชน เพราะหากไม่มีการเชื่อมโยงแพทย์ในโรงพยาบาลจะต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะคนไข้จะกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้งในอาการที่หนักกว่าเดิม” ผอ.รพ.หนองฮี กล่าว
- 167 views