13 รพ.รัฐระดับตติยภูมิ ทั้ง ‘ศิริราช รามาฯ จุฬา ธรรมศาสตร์ วชิรพยาบาล ฯลฯ’ ยื่นหนังสือถึง รมว.คลัง ระบุ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่กระทบจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ใน รพ.ระดับตติยภูมิ เหตุยังไม่มีเกณฑ์รองรับ หากจัดซื้อหวั่นมีโทษอาญา แจงผู้ป่วยของ รพ.ส่วนใหญ่เป็นโรคซับซ้อน รักษายาก จำต้องใช้ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเพาะเจาะจง มูลค่าสูง หากไม่เตรียมการรอบคอบ จะทำให้ไม่สามารถจัดซื้อให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ ซ้ำเติมความเจ็บป่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 13 โรงพยาบาลรัฐระดับตติยภูมิได้ทำหนังสือ ที่ ศธ 0517.062/3390 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำเสนอข้อเสนอกรณีการจัดซื้อยา อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดและรักษาโรค และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยระบุว่า

ตามที่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2560 ถึงแม้มีการทดลองใช้ปฏิบัติในการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ประเภทยา อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาแล้วก็ตาม การนำร่องดังกล่าว เป็นเพียงรายการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์บางกลุ่มที่ไม่ซับซ้อนเท่านั้น

แต่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์มีความซับซ้อนมากและรักษายาก จำเป็นต้องใช้ยาหรือเวชภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงและมีมูลค่าสูง หากไม่เตรียมการอย่างรอบคอบเสียก่อนจะมีผลให้สถานพยาบาลของรัฐไม่สามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์บางรายการให้แก่ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมความเจ็บป่วยของผู้ป่วย หากเครือข่ายโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ดำเนินการจัดซื้อในขณะที่ยังไม่มีเกณฑ์รองรับจะผิดกฎหมายและมีโทษอาญาด้วย ดังนั้น โรงพยาบาลอาจไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อผลิตภัณฑ์การแพทย์หรือดำเนินการโดยรับความเสี่ยงเอง

จึงขอเสนอให้ รมว.การคลังในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้และเป็นประธานนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โปรดใช้โอกาสนี้ในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เหล่านี้ที่เหมาะสมของประเทศ ทั้งการจัดหายา อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ดังต่อไปนี้

1.ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศกระทรวงการคลัง หรือระเบียบปฏิบัติด้านยา อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา โปรดกำหนดแนวทางปฏิบัติหลังการกำหนดใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2560 เพื่อให้สถานพยาบาลสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เหล่านี้ สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไปได้โดยถูกกฎหมาย

2.การกำหนดแนวทางปฏิบัติให้สถานพยาบาลสามารถจัดหาอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เครือข่ายโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์เห็นว่า ควรสอดคล้องกับเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่มุ่งหวังใช้มิติด้านคุณภาพด้วย มิได้ใช้เพียงเกณฑ์ราคาอย่าง พ.ร.บ.ฉบับก่อน ทั้งนี้เพราะผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เหล่านี้มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ดังเอกสารจากเครือข่ายโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ที่นำเสนอต่อท่านอธิบดีกรมบัญชีกลาง ถึงปัญหาต่อการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560

ทั้งนี้ผู้ลงชื่อประกอบด้วย

1.รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผอ.รพ.ศิริราช

2.ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

3.ผศ.นพ.วิชัย ชื่นจงกลกุล ผอ.รพ.มหาราชนครเชียงใหม่

4.รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

5.รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

6.นพ.สุรวุฒิ ลีฬหะกร ผอ.รพ.วชิรพยาบาลและรองคณบดีฝ่ายบริการ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล

7.ผศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ ผอ.รพ.สงขลานครินทร์

8.ผศ.พญ.นันทนา ชุมช่วย ผอ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

9.นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

10.นพ.สุริยา โปร่งน้ำใจ ผอ.รพ.มหาวิทยาลัยบูรพา

11.นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.รพ.ราชวิถี

12.รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ ผอ.รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร

13.รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี และประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย

พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 (ดู ที่นี่)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปม กม.จัดซื้อใหม่กระทบซื้อยา-โทษอาญา บัญชีกลางแจง รพ.ออกระเบียบเองได้