เพจ Medtechtoday รายงานเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560 ว่า ปัจจุบันมีนักเทคนิคการแพทย์เป็นข้าราชการไม่ถึงครึ่งของกรอบขั้นต่ำ รพช. 34 แห่งยังไม่มี เสนอแผนอัตรากำลังคน 20 ปี บรรจุนักเทคนิคการแพทย์ 976 อัตราเร่งด่วนใน 3 ปี ทดแทนอัตรว่าง จพว./นวก.ทุกตำแหน่งเมื่อลาออก/เกษียณ ขอให้ทบทวนสัดส่วนการบรรจุ ขรก. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90-100 ของกรอบขั้นต่ำ เสนอแก้ FTE ให้ใกล้เคียงมาตรฐานและข้อเท็จจริง และทบทวนค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม
ในการสัมมนาเรื่อง "ปัญหา : ทางออกกำลังคนด้านสุขภาพ" ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่าวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์กำลังคนในสายงานเทคนิคการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วยนักเทคนิคการแพทย์ /นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เวชศาสตร์ธนาคารเลือด/ เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่ามีบุคลากรที่เป็นข้าราชการ 4,831 คน คิดเป็นร้อยละ 69.62 ของกรอบขั้นต่ำ หรือร้อยละ 57.60 ของกรอบขั้นสูง ซึ่งยังขาดอยู่ 2,108 ตำแหน่งจากกรอบขั้นต่ำ และในจำนวนนี้มีจำนวนนักเทคนิคการแพทย์ที่เป็นข้าราชการเพียง 2,923 คน คิดเป็นร้อยละ 42.12 ของกรอบขั้นต่ำเท่านั้น
ซึ่งสถานการณ์กำลังคนไม่พอเพียงกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้โรงพยาบาลต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการจ้างนักเทคนิคการแพทย์ลูกจ้างประเภทต่างๆ มาปฏิบัติงานแทนตำแหน่งข้าราชการ รวมถึงผู้มีคุณวุฒิไม่ตรงและไม่มีวุฒิการศึกษาของสายงานเทคนิคการแพทย์ มาปฏิบัติงานในภาคราชการอีกจำนวนหนึ่งด้วย
และข้อมูลจากการสำรวจ รพ.ชุมชน เพิ่มเติม จำนวน 750 แห่ง พบว่ามี รพ.ที่ไม่มีนักเทคนิคการแพทย์ปฏิบัติงาน จำนวน 34 แห่ง เมื่อคิดสัดส่วนของนักเทคนิคการแพทย์ตามสัดส่วนต่อประชากร (Population Ratio Method) เท่ากับ 1 : 16,772 (ข้อมูล ปชก. มหาดไทย ณ ธค. 2559) เปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย 1 : 7,000 และประเทศเกาหลีใต้ 1 : 5,000
รายงานข่าวระบุด้วยว่า โอกาสนี้วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ได้เสนอแผนอัตรากำลังคน 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ให้คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา ทั้งแผนระยะเร่งด่วน และแผนระยะยาว
โดยแผนระยะเร่งด่วนได้ขอให้มีอัตราบรรจุข้าราชการตำแหน่งสายงานเทคนิคการแพทย์(นักเทคนิคการแพทย์ /นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เวชศาสตร์ธนาคารเลือด/ เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์) ทั้งหมดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,069 อัตรา เป็นตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ไม่น้อยกว่า 976 อัตรา ภายในเวลา 3 ปีเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพ ตามมาตรฐาน และตามพรบ.ที่เกี่ยวข้อง และขอให้บรรจุนักเทคนิคการแพทย์ ทดแทนในอัตราว่างเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ /นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เวชศาสตร์ธนาคารเลือด ทุกตำแหน่งเมื่อลาออก/เกษียณอายุ ทั้งนี้ให้จัดสรรคืนให้ส่วนราชการเดิม ร้อยละ 100
ส่วนตำแหน่งเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ได้รับการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการ 135 ตำแหน่ง จำนวนที่เหลือควรคืนให้สายงานเทคนิคการแพทย์ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ขาดอัตรากำลัง รวมทั้งขอให้ปรับปรุงตำแหน่งให้เจ้าพนักงานวิทย์ฯที่จบ วทบ.เทคนิคการแพทย์ จำนวน 52 คน (ข้อมูลสำรวจ) โดยไม่ต้องยุบรวมตำแหน่ง และให้การเยียวยา
สำหรับแผนระยะยาววิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ขอให้ทบทวนสัดส่วนข้าราชการตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ ให้มีสัดส่วนการบรรจุเป็นข้าราชการ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90-100 ของกรอบขั้นต่ำ และขอให้เพิ่มอัตรากำลัง ในการบรรจุข้าราชการตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในการตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุล (Molecular) และ Service plan และเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ specialist และ Sub-specialty ที่มีมากขึ้นใน รพ.ทุกระดับ รวมถึงเพื่อทดแทนตำแหน่งเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ปิดหลักสูตรไปแล้ว รวมทั้งทดแทนนักเทคนิคการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กำลังจะเกษียณอายุในตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ตลอดจนเพื่อรองรับการบริการทางห้องปฏิบัติการ งานบริการปฐมภูมิ ของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ โดยจัดให้มีนักเทคนิคการแพทย์ 1 คน ต่อ 1 CMU และ PCU ขนาดใหญ่รวมทั้งรับผิดชอบงานใน PCU ลูกข่ายนั้นๆ และงานเชิงรุก โรคเอดส์ วัณโรค NCD CKD และอื่นๆ
นอกจากนี้ วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ยังขอให้ สธ.แก้ไขและอนุมัติให้ใช้การวิเคราะห์ FTE ที่ใกล้เคียงมาตรฐานและข้อเท็จจริงจากการสำรวจการปฏิบัติงานจริง ขอให้นักเทคนิคการแพทย์ ก้าวหน้าไหลลื่นในอัตราตำแหน่งของตัวเองจากชำนาญการ สู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษและขอให้ทบทวนประเด็นค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม ปรับปรุงการให้มีความสอดคล้องกับลักษณะงานที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน และความชำนาญ ความเชี่ยวชาญเฉพาะวิชาชีพที่เพิ่มขึ้น
- 801 views