กรมการแพทย์แนะสังเกตความผิดปกติในร่างกายหากพบ 7 สัญญาณอันตราย มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายกลืนอาหารลำบาก เสียด แน่นท้องเป็นเวลานาน เสียงแหบ และไอเรื้อรัง มีเลือดออกผิดปกติจากทวารต่างๆ เป็นแผลรักษาแล้วไม่หาย มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย หรือมีก้อนตุ่มที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ว่า 2 สัปดาห์ ควรรีบมาพบแพทย์ หากเป็นมะเร็งจริง สามารถรักษาหายได้สูง
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของประชากรไทย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในเพศชาย 3 อันดับแรก คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในเพศหญิง 3 อันดับแรก คือ มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งตับและท่อน้ำดี โรคมะเร็งเป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง หลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง ในที่สุดจะทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะเหล่านั้นผิดปกติ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1.ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค รวมทั้งการได้รับรังสี เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและพยาธิบางชนิด
2.ปัจจัยจากพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือเค็มจัด อาหารที่มีส่วนผสมดินประสิวและไหม้เกรียม
3.ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น ความผิดปกติของยีน และความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
ปัจจุบันแพทย์สามารถรักษามะเร็งหลายชนิดให้หายได้ และทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีอัตรารอดชีวิตที่ยาวนานมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็งที่พบ เพราะมะเร็งระยะเริ่มแรกมีการตอบสนองต่อการรักษา และมีโอกาสหายขาดมากกว่าระยะลุกลาม ดังนั้น การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญมาก ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นเนื่องจาก “รู้เร็ว รักษาหายได้”
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สัญญาณอันตราย 7 ประการที่พึงระวังว่า มีโอกาสเป็นมะเร็งได้โดยเฉพาะมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ ได้แก่
1.มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะเป็นเลือด
2.กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียด แน่นท้องเป็นเวลานาน
3.มีอาการเสียงแหบและไอเรื้อรัง
4.มีเลือดออกผิดปกติจากทวารต่างๆ
5.เป็นแผลรักษาแล้วไม่ยอมหาย
6.มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย
7.มีก้อนตุ่มที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
สำหรับการป้องกันโรคมะเร็ง มีหลักการง่ายๆ คือ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำจิตแจ่มใส กินผักผลไม้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร กินอาหารให้หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก จำเจ และใหม่สด สะอาด ปราศจากเชื้อรา ไม่กินอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่างหรือทอดไหม้เกรียม อาหารหมักดองเค็ม และปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดดิบๆ รวมทั้งไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่มีเซ็กซ์มั่วหรือไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่อยู่กลางแดดนานๆ และที่สำคัญคือตรวจร่างกายเพื่อค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง
- 855 views