วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีและกระทรวงแรงงาน ต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ

นับแต่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเร่งด่วนในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสารในการขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานกับรัฐบาลไทย ตั้งแต่ปี 2557 โดยข้อมูลกระทรวงแรงงาน ณ เดือนพฤษภาคม 2560 สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานที่ไม่มีเอกสารสาร (ถือบัตรชมพู) ได้จำนวนทั้งสิ้น 1,178,679 ล้านคน มีสิทธิอาศัยและทำงานในประเทศได้ชั่วคราวถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 และแรงงานประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ (ถือบัตรชมพู) รวม 93,089 คน มีสิทธิอาศัยและทำงานในประเทศได้ชั่วคราวถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 และให้แรงงานที่ถือบัตรชมพูทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายขยายระยะเวลาให้กับแรงงานข้ามชาติทำงานและอาศัยอยู่ชั่วคราวได้อีกต่อไป

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติได้จัดเวทีเสวนา เพื่อติดตามกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ พบว่า แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าที่ขึ้นทะเบียนและถือบัตรชั่วคราวจำนวน 793,576 ราย ได้รับเอกสารพิสูจน์ตนจากประเทศต้นทาง (Certificate of Identity: CI) ประมาณ 200,000 ราย หรือ ประมาณ 25% ในขณะที่แรงงานจากกัมพูชา (406,670 ราย ) และลาว (71,521 ราย) ไม่มีข้อมูลของแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ดังนั้น ยังมีแรงงานอีกประมาณ 1 ล้านคนที่มีสถานะการทำงานและอาศัยอยู่ในไทยชั่วคราวเพื่อรอการพิสูจน์สัญชาติ

วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ได้มีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีบทกำหนดโทษที่รุนแรง จนเกิดกระแสความกังวลทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างว่า หากมีการบังคับใช้กฎหมาย จะมีการดำเนินการจับกุมนายจ้างและลูกจ้างที่แม้จะมีการขึ้นทะเบียนแล้ว แต่มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขด้านนโยบายการจ้างงาน โดยข้อมูลจากสมาชิกเครือข่ายฯ พบว่า ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 มีแรงงานพม่าเดินทางกลับประเทศต้นทางแล้ว ประมาณ 200,000 ราย ทั้งผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง และช่องทางธรรมชาติ ในขณะที่แรงงานกัมพูชาเดินทางกลับประเทศต้นทางแล้ว ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จำนวน 4,921 ส่วนด่านตรวจคนเข้าเมืองและช่องทางธรรมชาติอื่นๆ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน การไหลกลับโดยไม่มีทิศทางด้านการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ส่งผลโดยตรงต่อความพยายามของรัฐในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้มีสถานะที่ถูกกฎหมายเพื่อป้องกันการขยายตัวของปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์

จากสภาพปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติมีข้อเสนอเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

การออกข้อกำหนดเพื่อแก้ไขสถานภาพของแรงงานกลุ่มต่างๆ

กลุ่มที่มีเอกสาร แต่เอกสารไม่ตรงกับสภาพการจ้างงานจริง

1. เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ให้มีการเปลี่ยนเงื่อนไขการทำงานให้ถูกต้อง (นายจ้าง สถานที่ ประเภทกิจการ) โดยรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนแรงงานทั้งหมด ได้แก่ ตม. จัดหางาน สธ. มท.

2. ดำเนินการเปลี่ยนเงื่อนไข นายจ้าง และอาชีพให้ถูกต้อง โดยตัดเงื่อนไขการดำเนินงานด้านเอกสารออก

3. ออกประกาศ กำหนดเงื่อนไขการขอเปลี่ยนนายจ้างภายใน 15-30 วัน ถ้านายจ้างเก่าไม่แจ้งออกภายในกำหนด ให้นายจ้างคนปัจจุบันสามารถไปแจ้งการเปลี่ยนนายจ้างได้ที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (เพื่อแก้ปัญหานายจ้างรับจ้าง)
กลุ่มที่เคยมีเอกสาร แต่ปัจจุบันเอกสารหมดอายุ

1. วีซ่า และ/หรือ ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ แต่หนังสือเดินทางยังมีอายุ อนุญาตให้มีการตรวจลงตราวีซ่าอายุ 2 ปี และสามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานได้ตามปกติ โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

ก. ให้ตรวจลงตราตามอายุของหนังสือเดินทางที่เหลือ กำหนดระยะเวลาไม่เกินสองปี ทั้งนี้ ในกรณีที่ต่ออายุ/ เปลี่ยนเล่มหนังสือเดินทางใหม่ ให้ย้ายวีซ่าตามระยะเวลาที่เหลือ รวมกันแล้วไม่เกิน 2 ปี (อิงตามมติ ครม. 25 ตุลาคม 2559)

ข. เมื่อครบวาระการจ้างงาน 2 ปี หากแรงงานประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามระบบ MOU ที่ถูกต้อง

2. บัตรสีชมพูหมดอายุ (ไม่ต่ออายุบัตร) เสนอให้ดำเนินการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยมีแนวทางดังนี้

ก. ให้แรงงานเข้าสู่ระบบการตรวจสัญชาติ ได้แก่ การขอ CI หรือทำหนังสือเดินทางที่สถานทูต (สำหรับผู้ที่มีบัตรประจำตัวประชาชนพม่า)

ข. ให้ มท. ดำเนินการเชื่อมต่อฐานข้อมูล เพื่อให้แรงงานเข้าระบบการทำ CI ได้ รวมถึงดำเนินการให้มีการตรวจลงตรา และอนุญาตให้ทำงานได้ถึงเดือนมีนาคม 2561

3. กลุ่มที่ขาดการรายงานตัว 90 วัน มีหนังสือเดินทาง และใบอนุญาตทำงาน ให้ยกเว้นโทษ ให้ไปรายงานตัว และมีโทษปรับอัตราเดียวเท่ากัน

4. หนังสือเดินทางหมดอายุ ติดต่อขอจัดทำหนังสือเดินทางใหม่จากสถานทูต โดยไทยควรเจรจากับประเทศต้นทางเพื่อเร่งรัดระยะเวลาการดำเนินการออกหนังสือเดินทาง

กลุ่มที่ไม่มีเอกสาร

1. กรณีแรงงานที่เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อดำเนินการเข้าระบบ MOU

ก. เจรจากับประเทศต้นทางเพื่อลดเงื่อนไข ขั้นตอน และระยะเวลาให้สั้นลง รวมถึงเจรจาให้มีการ เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในประเทศต้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานโดยนายจ้างไทย

ข. การดำเนินการในฝั่งประเทศไทย ควรลดเงื่อนไข ขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินงานนำเข้าแรงงานโดยระบบ MOU ให้สั้นลง

ค. ควรมีเวทีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อท้าทายในการจ้างแรงงานผ่าน MOU จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

2. กลุ่มที่เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อทำหนังสือเดินทาง แต่ไม่พร้อมทำ MOU และยังไม่ได้รับการตรวจลงตรา

ก. ให้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในพื้นที่ชายแดน โดยให้แรงงานนำหนังสือเดินทางมารายงานตัวที่ศูนย์บริการฯ และนายจ้างต้องทำเอกสารการจ้างงานและสัญญาจ้างไปรอที่ชายแดนเพื่อยืนยันการจ้างแรงงาน โดยดำเนินการตรวจลงตรา และออกใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จ ณ ศูนย์บริการฯ

3. กลุ่มที่ทำงานโดยผิดวัตถุประสงค์ของการตรวจลงตรา (เช่น วีซ่าท่องเที่ยว จึงไม่สามารถทำงานในประเทศไทยได้)

ก. เปิดให้แรงงานมารายงานตัวพร้อมนายจ้างที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เพื่อเปลี่ยนการตรวจลงตรา และขอใบอนุญาตทำงาน (ในรูปแบบเดียวกับที่เคยดำเนินการในกรณีแรงงานเวียดนาม)

4. กลุ่มแรงงานที่ไม่มีเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น

ก. เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อทำเอกสาร และขออนุญาตทำงานตามระบบ MOU หรือ เปิดศูนย์จัดทำ CI ร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศต้นทาง

การออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน

1. ออกมาตรการเพื่อเปิดช่องทางให้แรงงานฯ เดินทางกลับโดยมีกำหนดเวลา เพื่อลดปัญหาการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานฯ

2. ลดขั้นตอนการขออนุญาตทำงาน และการยื่นคำขอนำเข้าแรงงานในระบบ MOU ให้มีระยะเวลาสั้นลง

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ เห็นว่าในระยะต่อไป รัฐบาลควรจัดทำร่าง พรก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อทบทวน ยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมายบางมาตราที่ไม่นำมาสู่การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และรัฐบาลควรจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยจัดตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจากทุกภาคส่วน ก่อนให้การพิจารณารับรองร่าง พรก.ฯ
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ