theguardian.com รายงานว่า คำแนะนำจากแพทย์ที่ให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยาปฏิชีวินะให้ครบคอร์สนั้น อาจจะเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ได้ผลจริง โดยคณะผู้ศึกษาวิจัยเสนอว่าผู้ป่วยควรหยุดยาเมื่อรู้สึกว่าอาการทุเลาแทนที่จะรับประทานยาต่อจนครบคอร์ส โดย The Guardian รายงานว่า
การแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดยาปฏิชีวนะเมื่ออาการดีขึ้นอาจเป็นการดีกว่าที่จะรับประทานยาให้ครบคอร์ส ดังที่คณะผู้ศึกษาวิจัยชี้ว่าการรับประทานยาให้ครบคอร์สเป็นความเชื่อฝังหัวซึ่งควรได้รับการแก้ไขเสียที
แต่ไหนแต่ไรมาผู้ป่วยมักได้รับคำแนะนำว่าต้องรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบคอร์สตามทฤษฎีว่าการรับประทานยาไม่เพียงพออาจทำให้แบคทีเรียก่อโรคกลายพันธุ์และดื้อต่อยา
ปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัดด้านข้อมูลระยะเวลาที่เหมาะสมของคอร์สยาปฏิชีวนะ ภาพ: จูเลียน เบฮาล/พีเอ
อย่างไรก็ดี ศ.นพ.มาร์ติน เลเวลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและคณะแย้งว่าทฤษฎีดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยรายงานในวารสารการแพทย์ British Medical Journal ว่า “ไม่มีหลักฐานรองรับว่าการหยุดยาปฏิชีวนะเร็วเกินไปทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ขณะเดียวกันก็พบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในระยะยาวต่างหากที่เพิ่มความเสี่ยงการดื้อยา”
คณะผู้ศึกษาวิจัยรายงานว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาเนื่องจากหยุดยาปฏิชีวนะเร็วเกินไปอาจเกิดขึ้นได้กับบางโรคโดยเฉพาะวัณโรค ทว่าแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย เช่น E coli และ Staphylococcus aureus นั้น ก็พบได้ทั่วไปแม้กระทั่งตามร่างกายของเราเอง และจะทำให้เจ็บป่วยได้ก็ต่อเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดหรือระบบลำไส้เท่านั้น แต่ยิ่งแบคทีเรียสัมผัสกับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการดื้อยาสูงขึ้น
คณะผู้ศึกษาวิจัยกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัดด้านข้อมูลกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมของคอร์สยาปฏิชีวนะ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วแตกต่างไปตามแต่ละบุคคล โดยขึ้นอยู่กับชนิดของยาปฏิชีวนะที่เคยได้รับ ผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลสามารถตรวจร่างกายเพื่อประเมินระยะเวลาที่ควรหยุดยา แต่เมื่ออยู่นอกโรงพยาบาลก็อาจหยุดยาได้เมื่อรู้สึกว่าอาการทุเลาลงแล้ว
แพทย์โรคติดเชื้อบางส่วนเริ่มออกมาสนับสนุนแนวคิดการหยุดยาปฏิชีวนะเมื่อผู้ป่วยเริ่มทุเลาลง “ผมคิดมาตลอดว่ามันไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะบอกว่าการหยุดยาปฏิชีวนะก่อนกำหนดเป็นตัวการทำให้เกิดเชื้อดื้อยา” ศ.ปีเตอร์ โอเพนชอว์ ประธานสมาคมอิมมูโนวิทยาแห่งอังกฤษ เผย
“ข้อมูลจากการศึกษาทบทวนสนับสนุนแนวคิดว่าเราสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และสะท้อนว่าหลักฐานที่สนับสนุนคอร์สการรักษาที่ยาวนั้นอาจไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ การลดคอร์สยาปฏิชีวนะนั้นไม่ใช่การละเลยการรักษาและมีแนวโน้มว่าจะมีอัตราการดื้อยาต่ำกว่าด้วย”
ด้าน ศ.อลิสัน โฮมส์ จากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน เผยว่า แนวคิดเรื่องลดการใช้ยาปฏิชีวนะมีผู้กล่าวไว้ในวารสาร Lancet แล้วตั้งแต่ปี 2542 “น่าแปลกที่เรายังคงขาดองค์ความรู้ด้านระยะเวลาที่เหมาะสมของคอร์สยาปฏิชีวนะและขนาดยาปฏิชีวนะที่ใช้ในหลายโรค ขณะที่ความเชื่อว่าต้องใช้ยาจนครบคอร์สก็ยังคงมีผู้ปฏิบัติตามอย่างไม่เสื่อมคลาย”
อีกด้านหนึ่ง ศ.โจดี ลินด์เซย์ จากมหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จยูนิเวอร์ซิตีออฟลอนดอน กล่าวว่า การหยุดยาปฏิชีวนะเมื่ออาการทุเลาเป็นคำแนะนำที่สมเหตุสมผล
“หลักฐานที่สนับสนุนว่า ‘ต้องรับประทานยาให้ครบคอร์ส’ นั้นไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ อีกทั้งระยะของคอร์สยาปฏิชีวนะก็มักไม่ได้อ้างอิงตามข้อมูลจากการศึกษาวิจัยแต่ประเมินเอาจากความกังวลว่าอาจรักษาไม่เพียงพอ ขณะที่หลักฐานซึ่งชี้ว่าคอร์สยาปฏิชีวนะที่สั้นกว่าให้ผลเท่าเทียมกับคอร์สที่ยาวกว่าทั้งในแง่ผลลัพธ์การรักษาและการรักษาหายขาด กลับมีความน่าเชื่อถือในระดับที่ดี อย่างไรก็ดีหากมีการศึกษาเพิ่มเติมก็จะช่วยให้ข้อสรุปชัดเจนขึ้น และยังคงมีบางโรค เช่น วัณโรคซึ่งคอร์สยาปฏิชีวนะที่ยาวกว่าให้ผลการรักษาดีกว่า”
แต่อีกด้านหนึ่ง ศ.เฮเลน สโตกส์-แลมพาร์ด ประธานราชวิทยาลัยเวชปฏิบัติทั่วไปแห่งอังกฤษออกมาเตือนว่า “คอร์สยาปฏิชีวนะที่แนะนำนั้นได้ปรับให้สอดคล้องกับตัวโรค ซึ่งในหลายกรณีก็มีระยะเวลาค่อนข้างสั้น เช่น คอร์สยาสำหรับการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซึ่งระยะเวลาเพียง 3 วันก็เพียงพอแล้วที่จะรักษาให้หายขาด”
“เรากังวลต่อแนวคิดว่าผู้ป่วยสามารถหยุดยากลางทางเมื่อรู้สึกว่า ‘อาการทุเลา’ เพราะอาการที่ทุเลาลงนั้นไม่ได้หมายความว่าจะกำจัดเชื้อได้อย่างหมดจด และที่สำคัญการรับประทานยาปฏิชีวนะจนครบคอร์สก็เป็นคำแนะนำที่ชัดเจนและรับรู้ทั่วกัน การเปลี่ยนคำแนะนำจึงอาจสร้างความสับสนแก่ผู้ป่วยได้”
ด้าน ศ.เดม แซลลี เดวีส์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาสาธารณสุขของรัฐบาล เผยว่า คำแนะนำต่อสาธารณะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยขอให้ผู้ป่วยปฏิบัติคำแนะนำของบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพ และว่าการจะปรับเปลี่ยนนโยบายนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเสียก่อน
“สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ของอังกฤษกำลังอยู่ระหว่างจัดทำคำแนะนำการดูแลรักษาโรคทั่วไป โดยจะตรวจสอบข้อมูลจากการศึกษาแนวทางการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน” และยืนยันด้วยว่า “กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษจะเดินหน้าทบทวนหลักฐานด้านการจ่ายยาและการติดเชื้อดื้อยาต่อไป”
ที่มา Rule that patients must finish antibiotics course is wrong, study says (www.theguardian.com)
- 11993 views