โดยปกติคนเราจะมีเส้นผมบนศีรษะประมาณ 90,000 - 140,000 เส้น ในหนึ่งตารางเซ็นติเมตรจะมีเส้นผมอยู่ 120-200 เส้น และร่วงไม่เกินวันละ 100 เส้น “ผม” ของแต่ละคนจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ตรงหรือหยิก สีทองหรือสีดำ ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติและกรรมพันธุ์ อย่างคนเอเชียอย่างพวกเราจะโชคดีหน่อยที่ผมของเราอาจจะแข็งแรงกว่าคนผิวขาวหรือคนผิวดำ แต่อย่าเพิ่งประมาทไป หากมีการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพผมไม่ถูกต้อง เราก็มีเสี่ยงเป็นโรคทางเส้นผมและหนังศีรษะได้เหมือนกัน
การดูแลเส้นผมโดยทั่วไป จะอาศัยหลักการรักษาสุขภาพแบบง่าย ๆ คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด นอกจากนั้นยังต้องเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ผมเสีย เช่น การทำเคมี ทั้งยืดดัดย้อมผมบ่อยเกินไป ก็ทำให้ผมร่วงก่อนวัยอันควร หมั่นสังเกตสัญญาณเริ่มต้นของอาการผมบางศีรษะล้าน โดยเริ่มจากมีผมร่วงเกินวันละ 100 เส้น และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการอักเสบของหนังศีรษะ หนังศีรษะมัน มีแผล ฝี รังแค เป็นต้น ซึ่งหากเกิดความผิดปกติ ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม
จริง ๆ แล้วเส้นผมของคนเราเป็นโปรตีน เปลือกของผิวผม จะมีลักษณะคล้าย ๆกับกระเบื้องหลังคาบ้าน ซึ่งหากมีการดัดหรือย้อมผมมากเกินไป ตัวผิวพวกนี้มันจะเกิดการกระเดิดหรือยกขึ้นมา จึงทำให้เกิดการหงิกงอได้ บางครั้งหลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า “ผม” ของคนเราเนี่ยร่วงได้อย่างไร จริง ๆ แล้วเส้นผมเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายที่มีการผลิตมากทีเดียว แต่เมื่อพอผลิตแล้วก็มีการหลุดร่วงออกไป โดยการหลุดร่วงของผมขึ้นกับวงจรการเติบโตของเส้นผม ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะการเจริญเติบโต หรือ Anagen Phase คือระยะที่ต่อมรากผมจะอยู่ลึกที่สุดในชั้นหนังแท้ โดยมีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงอยู่มากมาย และจะใช้เวลาประมาณ 1,000วัน หรือ 3 ปี ในการเจริญเติบโตเป็นเส้นผมเส้นผมทั้งศีรษะประมาณ 85-90 เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ในระยะการเจริญเติบโตนี้
2. ระยะหยุดการเจริญเติบโตหรือ Catagen Phase คือ ระยะหยุดการเจริญเติบโต ต่อมรากผมจะหยุดการแบ่งเซลล์ แต่ต่อมรากผมจะมีการค่อยๆเลื่อนสูงขึ้นไปเรื่อยๆโดยทั่วไประยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
3. ระยะพัก หรือ Telogen Phase ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของเส้นผมเมื่อต่อมรากผมเลื่อนสูงขึ้นจนถึงบริเวณของเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell)แล้ว ผมของคนเราก็จะเข้าสู่ระยะพัก ซึ่งจะเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ ประมาณ 100วันหรือ 3 เดือน ทั้งนี้ 10 เปอร์เซ็นต์ของเส้นผมทั้งศีรษะจะอยู่ในระยะพักนี้ ก่อนที่เซลล์ต้นกำเนิดจะส่งสัญญาณให้ต่อมผมเลื่อนลงมาอีกครั้งเพื่อให้มีการสร้างผมใหม่ โดยเส้นผมใหม่ที่สร้างขึ้นใหม่จะดันผมเก่าให้หลุดร่วงไป
สำหรับปัญหาเรื่องผมหงอกก่อนวัยนั้น เกิดขึ้นจากพันธุกรรมและกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นตัวกำหนด แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย คือ เรื่องของความเครียด พวกสารเคมี การสูบบุหรี่ เรื่องของการใช้ยาต่าง ๆ ซึ่งทำให้มีภาวะผมร่วงมากขึ้นบางครั้งต่อวัน อาจมากถึง 200 เส้นต่อวัน คนเราเวลาอายุมากขึ้น นอกจากผมที่อาจจะหงอกเพิ่มขึ้นแล้ว ผมก็จะมีลักษณะเหี่ยวเหมือนกัน เพราะเปลือกผมจะเป็นริ้วรอยจากการเสียดสีของหวี ดังนั้นยิ่งหวีผมมากเท่าไหร่ ผมยิ่ง “เหี่ยว” มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ความร้อนและสารเคมีที่เราใช้กับเส้นผม เช่น การรีดผมหรือดัดผม ถือเป็นตัวการสำคัญทำให้เปลือกผมเป็นริ้วรอยมากขึ้น ทำให้ระยะการเจริญเติบโตของผมสั้นลง จำนวนเส้นผมจะน้อยลงอย่างน้อย ๆ 10 เปอร์เซ็นต์และในทุกช่วงอายุ 10 ปี ขนาดของเส้นผมของคนเราจะเล็กลง
ดังนั้นจริง ๆ แล้ว การดูแลถนอมเส้นผมเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีการบำรุงด้วยครีมนวดผม หากทำการรีดผมหรือดัดผม ก็ไม่ควรทำบ่อยจนเกินไป ซึ่งการย้อมผมก็คล้าย ๆ กัน ไม่ควรทำบ่อยเกินไป และควรเลือกสีย้อมผมตามธรรมชาติ แต่ก็จะมีข้อเสียคือ จะติดไม่ทนเท่ายาย้อมผมประเภทสารเคมี สำหรับคนที่มีปัญหาผมร่วงเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์ โดยแนวทางการรักษานั้น แพทย์จะให้คำปรึกษาและรักษาด้วยการทายาและรับประทานยาใน 1 ปี แรก หากยังไม่ได้ผลก็จะรักษาด้วยการปลูกถ่ายเส้นผม ซึ่งมีหลากหลายวิธีให้เลือกในปัจจุบัน
ผู้เขียน : ผศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง หัวหน้าสาขาโรคเส้นผมและการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ผศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง
- 310 views