สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ผนึกกำลัง ใช้ “Mindset” ร่วมการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพหรือ IPE ปฏิรูปการสอน สร้างบัณฑิตสุขภาพตอบโจทย์ปัญหาสาธารณสุขประเทศ
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส. ร่วมกับ ศสช. ทันตแพทยสภา และเครือข่ายระบบสุขภาพ “นครชัยบุรินทร์” จัดงานสัมมนา “เติมใจให้กัน.. สานฝันเครือข่ายระบบสุขภาพนครชัยบุรินทร์” ภายใต้กิจกรรมเชื่อมสถาบัน สานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21 ในโครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 นำร่องใช้การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายใน (Mindset) และการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ (IPE) ตามแนวคิดเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง “Transformative Learning” สร้างบัณฑิตแพทย์และทันตแพทย์เลือดใหม่ ให้สามารถทำงานอย่างมีความสุขในทุกพื้นที่แม้ในถิ่นทุรกันดาร พร้อมเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้นำชุมชนดูแลสุขภาพชาวบ้านแบบองค์รวม ตอบโจทย์ปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ เผยปรับใช้มา 6 รุ่น พบบัณฑิตแพทย์ มทส.กว่าร้อยละ 90 กลับไปทำงานในท้องถิ่นและใช้ทุนครบตามระยะเวลา
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) ทันตแพทยสภา และเครือข่ายระบบสุขภาพนครชัยบุรินทร์ จัดงานสัมมนา “เติมใจให้กัน.. สานฝันเครือข่ายระบบสุขภาพนครชัยบุรินทร์” ภายใต้กิจกรรมเชื่อมสถาบัน สานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21 ในโครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การอนามัยโลก (WHO) และมูลนิธิไชน่าเมดิคัลบอร์ดประจำประเทศไทย (CMB) ให้การสนับสนุน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนตามแนวคิดเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) โดยใช้การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายใน (Mindset) และการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ (Interprofessional Education : IPE) สร้างบัณฑิตแพทย์ บัณฑิตทันตแพทย์ และอาจารย์พี่เลี้ยงเลือดใหม่ ให้สามารถทำงานอย่างมีความสุขในทุกพื้นที่ พร้อมเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้นำชุมชนดูแลสุขภาพชาวบ้านแบบองค์รวม ตอบโจทย์ปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ โดย ศ.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 3 ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “กำลังคนที่ตอบสนองต่อกลุ่มหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary care cluster) และ ทีมสุขภาพกับการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย” ณ ห้องสุรนารี สุรสัมมนาคาร ชั้น 2 มทส. จ.นครราชสีมา
ศ.นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ
ศ.นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการจัดตั้งสำนักแพทยศาสตร์ มทส. เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณแพทย์ในเขตชนบทไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงอัตราบัณฑิตแพทย์กลับไปทำงานยังถิ่นบ้านเกิดลดจำนวนลง และทำงานในพื้นที่ทุรกันดารไม่ได้นาน จนกลายเป็นปัญหาขาดแคลนแพทย์ระดับประเทศ ที่แม้อาศัยระยะเวลาเป็น 10 ปี ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ทางสำนักแพทยศาสตร์ มทส. จึงริเริ่มนำกระบวนการเรียนรู้แบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ในส่วนของ Mindset และ IPE มาประยุกต์ใช้ในการเตรียมบุคลากรและปฏิรูปการสอนแก่บัณฑิตแพทย์ โดยกระบวนการดังกล่าวทางสำนักวิชาแพทย์ฯ เริ่มใช้กับนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 6 เน้นให้ว่าที่บัณฑิตแพทย์เกิดการพัฒนาตนเองผ่านวิชาจิตปัญญาศึกษา วิชาชนบทศึกษา และฝึกงานกับเครือข่ายระบบสุขภาพนครชัยบุรินทร์ใน จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ที่ให้นักศึกษาเรียนรู้จากสถานที่จริงควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านวิชาการ
ศ.นพ.สุกิจ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญในการสร้างแพทย์ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ คือการเปลี่ยน Mindset จากข้างในของตัวนักศึกษา ว่าจะทำอย่างไรให้เขาจบออกไปแล้วสามารถทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชนบทหรือแม้แต่ในเขตเมืองได้อย่างมีความสุข คิดถึงคนไข้มากกว่าตัวเอง คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว คิดถึงความเป็นทีมมากกว่าการเดินนำหน้าคนเดียว พร้อมนำความรู้ที่มีมาปรับใช้แก้ปัญหาได้ และกลายเป็นผู้นำชุมชนในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งเป็นระยะเวลา 6 ปี ที่ทางสำนักแพทย์ฯ ได้ทดลองปรับเปลี่ยนการสอนในรูปแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ทั้ง 6 ชั้นปี โดยใช้หลักการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ (IPE) มาใช้กับนักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ชั้นปีที่ 1-3 โดยให้มาเรียนร่วมเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พบว่าเจตคติของบัณฑิตแพทย์และทันตแพทย์เปลี่ยนไป เกินกว่าร้อยละ 90 จบการศึกษาแล้วกลับไปทำงานยังท้องถิ่น พร้อมใช้ทุนรัฐบาลจนครบเวลาโดยไม่หนี นอกจากนี้ ชาวบ้านและสหวิชาชีพในสาขาอื่นๆ ที่ร่วมงานด้วยกัน ยังสะท้อนว่าบัณฑิตแพทย์ มทส.สามารถเข้ากันได้ดีกับชุมชนและเพื่อนร่วมงาน
“เพื่อให้การปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ของสำนักแพทย์ฯ สามารถสร้างบัณฑิตแพทย์ที่ตอบโจทย์ปัญหาระบบสาธารณสุขของประเทศได้ตรงเป้ามากขึ้น หลังจากนี้ ทางสำนักแพทย์ฯ จะนำองค์ความรู้ด้านทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง มาปรับประยุกต์ใส่เป็นหน่วยกิตไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างชัดเจนในเร็วๆ นี้ จากเดิมที่เป็นแค่หลักสูตรเสริม” คณบดีสำนักแพทยศาสตร์ มทส. ระบุ
ผศ.ทพญ.ยุพิน ส่งไพศาล
ผศ.ทพญ.ยุพิน ส่งไพศาล คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส. ชี้แจงถึงเหตุผลการตัดสินใจเดินหน้าปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ร่วมกับสำนักแพทยศาสตร์ มทส. ว่า ทันตแพทย์ก็คือแพทย์สาขาหนึ่ง ทันตแพทย์ดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งช่องปากเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ดังนั้น ทันตแพทย์ควรทำงานร่วมกันกับแพทย์เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย และคิดว่าทันตแพทย์เองต้องมีความเป็นมนุษย์ในการดูแลผู้ป่วย ประสบการณ์ตรงที่นักศึกษาจะได้จากการเรียนรู้ร่วมกันกับนักศึกษาแพทย์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือเรียนจากสถานการณ์จริงที่เป็นอยู่จากฐานชนบทศึกษา จะทำให้นักศึกษาเกิดทัศนคติ มองเห็นคุณค่าของตัวเอง และปลูกฝังให้นักศึกษาคิดถึงประโยชน์ของคนไข้มากที่สุด นั่นคือความเป็นมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นกับทันตแพทย์รุ่นใหม่นับจากนี้
“งานของทันตแพทย์คือ อุด ถอน ใส่ ก็จะใกล้ช่างพอสมควร เวลาทำงานเลยรู้สึกว่าเราไม่ค่อยสื่อสารกับคนไข้เท่าไร แต่คนไข้กลับอยากสื่อสารกับเราเพราะอยากจะรู้ว่าถ้าป่วยแบบนี้จะรักษาอย่างไร และโรคในช่องปากเป็นโรคที่ป้องกันได้ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นถ้าได้คุยกับคนไข้แล้วเข้าใจเขา บอกวิธีดูแลตัวเอง เช่น คนเป็นโรคเบาหวานจะมีความสัมพันธ์กับเหงือกอักเสบ ถ้าบุคลากรด้านสุขภาพช่วยเหลือกัน จะทำให้เบาหวานลดอาการเหงือกอักเสบก็จะลดลง เช่นเดียวกับการดูแลภาวะเหงือกอักเสบให้บรรเทาจะทำให้โรคเบาหวานดีขึ้น จะเห็นได้ว่าการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ ทันตแพทย์ และสหวิชาชีพ มีมากขึ้นทุกวัน ฉะนั้น สหวิชาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานร่วมกันในอนาคต และการสร้างให้นักศึกษาเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาจะก่อเกิดความใกล้ชิด ความเข้าใจกัน เป็นเพื่อนกัน ซึ่งดีกว่าไปทำงานเป็นเพื่อนกันหลังเรียนจบแล้ว โชคดีที่สำนักแพทยศาสตร์ มทส. ทำเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว และวิชาพื้นฐานของแพทย์และทันตแพทย์คือวิชาเดียวกัน เลยจับเรียนด้วยกันโดยไม่แยกชั้น ขอบคุณที่ให้ทางเราเป็นส่วนเสริม” คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส.
ด้าน นพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกคนที่ 2 ทันตแพทยสภา กล่าวว่า เพื่อให้การเตรียมบุคลากรด้านทันตกรรมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือ Aging Society ในอีก 4 ปีข้างหน้า (2564) รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของทันตแพทย์ไทย อาจารย์ทันตแพทย์ในหลายสถาบันเริ่มให้ความสนใจเรื่องการนำแนวคิดทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง มาปฏิรูปการเรียนการสอน แม้ยังไม่ตื่นตัวเท่ากับคณะแพทยศาสตร์ ฉะนั้น การมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในครั้งนี้ระหว่างอาจารย์ทันตแพทย์และทันตแพทย์ชุมชน จึงถือเป็นเรื่องดีต่อการยึดโยงเป็นเครือข่ายในภายหน้า
นพ.สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์
ขณะที่ นพ.สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์ อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผู้เชี่ยวชาญในการปรับกระบวนทัศน์ภายในและเน้นเรียนรู้จากสถานที่จริงเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม กล่าวว่า ปัญหาด้านสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันค่อนข้างซับซ้อน และการแก้ไขโดย สธ. มักเน้นการปรับด้านโครงสร้างที่ต้องการกำลังคนด้านสุขภาพจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแม้ระบบสาธารณสุขต้องการกำลังคน แต่เรื่องคุณภาพก็ต้องมาพร้อมกัน ดังนั้น โรงเรียนแพทย์ที่มีอยู่จำเป็นต้องผลิตบัณฑิตแพทย์โดยเอาปัญหาของประเทศเป็นตัวตั้ง อย่าง มทส. พบว่ามีการดำเนินการในเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี และมีจุดแข็งเป็นด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่คิดค้นขึ้นเพื่อชุมชน ยิ่งนำเอาหลักคิดแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ที่เป็นกุญแจสำคัญในการเรียนรู้ความเป็นคนด้วยใจอย่างใคร่ครวญยั่งยืน และเน้นการเรียนรู้จริงจากพื้นที่จริง มาปรับประยุกต์ใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ที่จะเปลี่ยนจิตใจและความคิดภายในของตัวนักศึกษา เชื่อว่าหากโรงเรียนแพทย์และสถาบันที่ผลิตบุคลากรด้านสุขภาพในไทย ร่วมกับปฏิรูปการเรียนการสอนเป็นในลักษณะทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศได้
“สิ่งที่เราได้จากการฝังเรื่อง Mindset ให้นักศึกษาแพทย์ คือนักเรียนแพทย์บางคนถึงกับขอเรียนซ้ำชั้น เพราะคิดว่ายังไม่มีความรู้มากพอที่จะไปรักษาชาวบ้าน นับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกินความหมาย” นพ.สรรัตน์ ชี้แจงเพิ่ม
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี
ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะกรรมการและเหรัญญิก ศสช. กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ Mindset ปรับพฤติกรรมของบัณฑิตและบุคลากรด้านสุขภาพ ให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุขว่า บัณฑิตและบุคลากรด้านสุขภาพของประเทศไทยมีความเป็นเลิศในแง่ฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงงานวิชาการต่างๆ แต่สิ่งที่ผู้ใช้ผลผลิตต้องการนับจากนี้ คือบุคลากรด้านสุขภาพที่มี “หัวใจความเป็นมนุษย์” และเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่จะเข้าไปเปลี่ยนสังคมโดยเฉพาะในด้านสุขภาพได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายใน หรือ Mindset จะเป็นจุดเริ่มสำคัญของการเรียนรู้แบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ที่ช่วยให้การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเป็นไปได้ เพราะ Mindset สามารถสร้างวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องให้ผู้บริหารองค์กร และปรับเปลี่ยนแนวคิดการสอนของอาจารย์ผู้สอนจนถึงพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาด้านสุขภาพ โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายใน ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องความเก่งแบบเดิมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบความคิดที่ติดตัวคนผู้นั้นไปตลอด ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็จะเป็นแพทย์เป็นบุคลากรด้านสุขภาพที่เน้นคิดมากกว่าทำตามตำราที่เรียนมา และสามารถทำงานอย่างมีความสุขได้ในทุกสภาพพื้นที่
แพทย์ ทันตแพทย์ และทีมสหวิชาชีพ โรงพยาบาลจักราช ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสุขภาพช่องปากชาวบ้าน
นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ มทส. เรียนร่วมแบบสหวิชาชีพตั้งแต่ปี 1-3 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน
สิ่งสำคัญในการสร้างแพทย์ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ คือการเปลี่ยน Mindset จากข้างในของตัวนักศึกษา ว่าจะทำอย่างไรให้เขาจบออกไปแล้วสามารถทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชนบทหรือแม้แต่ในเขตเมืองได้อย่างมีความสุข คิดถึงคนไข้มากกว่าตัวเอง คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว คิดถึงความเป็นทีมมากกว่าการเดินนำหน้าคนเดียว พร้อมนำความรู้ที่มีมาปรับใช้แก้ปัญหาได้ และกลายเป็นผู้นำชุมชนในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (ศ.นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส.)
- 209 views