การส่งเสริมสุขภาพประชากรไทยตามหลักวิชาการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในอดีตนั้น มีความน่าสนใจไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น ในยุค “สร้างชาติ” ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวได้ว่า “โครงการส่งเสริมอาหารของชาติปี 2481” มีบทบาทสำคัญมากในฐานะเป็นนโยบายส่งเสริมการกินอาหารของพลเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนิสัยการกินครั้งสำคัญของคนไทย

โดยเริ่มขึ้นจากการเสนอโครงการส่งเสริมอาหารของชาติ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2481 สืบเนื่องจากกรมสาธารณสุขได้เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นต้นสังกัดในขณะนั้นว่าผลจากการศึกษาพบว่าการบริโภคอาหารของพลเมืองในประเทศสยามโดยทั่วๆ ไปส่วนมากยังบกพร่อง ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อันเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้พลเมืองมีร่างกายไม่เจริญเติบโตและไม่มีกำลังพอที่จะต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ที่มารบกวนได้

ผลจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการนี้เองได้กลายเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของชาติ โดยยกตัวอย่างโรคที่เกิดจากสาเหตุดังกล่าว เช่น โรคเหน็บชาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงประมาณ 2,000 คนในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา อันเป็นจำนวนที่มากกว่าโรคร้ายแรงที่มีผู้คนหวาดกลัวอย่างเช่นอหิวาต์ด้วยซ้ำ

ดังนั้นการส่งเสริมอาหารการบริโภคของพลเมืองให้มีมาตรฐานดียิ่งขึ้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญของงานอนามัยอันแท้จริง และจะเป็นการลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการตายของพลเมืองได้อย่างเห็นผลชัดเจน โดยได้เสนอให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ คือ

1) ตั้งกองส่งเสริมอาหารขึ้น

2) สร้างตำราสำหรับพลเมือง นักเรียน และเจ้าหน้าที่

3) การโฆษณาโดยภาพยนตร์ ภาพนิ่ง โปสเตอร์ สุขพจน์ทางวิทยาและสุขพจน์ตามที่อื่นๆ

4) การปราบโรคบกพร่องธาตุอาหารเนื่องจากโรคชนิดนี้มีมากและระบาดบ่อยๆ

5) การสำรวจท้องถิ่นต่างๆ ในแง่อาหาร ชีวิต และการอนามัยของชาวชนบท

6) การส่งเสริมให้ชาวชนบทมีมาตรฐานการกินอยู่ให้ดียิ่งขึ้นโดยใช้หน่วยตัวอย่าง

7) การร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ เช่น กรมวิทยาศาสตร์ กรมพาณิชย์ กรมพลศึกษา และกรมพลาธิการในกระทรวงกลาโหม

8) การอบรมเจ้าหน้าและพนักงานในวิชาอาหาร

9) การออกกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนถูกโกงโดยพ่อค้าจำหน่ายอาหาร

10) การศึกษาในแง่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของอาหาร เช่น การผลิตผล, การแปรรูปอาหาร,

และการขนส่ง

การโฆษณาและเผยแพร่ความรู้เพื่อปฏิวัติการกินโดยกองบริโภคสงเคราะห์

ทั้งนี้ ผู้ที่นับว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่อง “โครงการส่งเสริมอาหารของชาติ” คือ นายแพทย์ย่งฮั้ว (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ยงค์ ชุติมา) นายแพทย์ยงค์ได้รับมอบหมายจากกรมสาธารณสุขให้เป็นผู้พิจารณาและดำเนินการเรื่องการส่งเสริมอาหารและมีหน้าที่เผยแพร่ความรู้และชักชวนให้ประชาชนมีความตระหนักถึงความสำคัญของอาหารและการบริโภคอาหารให้ครบถ้วนตามสัดส่วน

โดยเขาได้เขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับอาหารออกเผยแพร่จำนวนหลายชิ้น เช่น สยามก้าวหน้าและอนามัยแผนใหม่ (พิมพ์ครั้งแรกมกราคม พ.ศ.2479 ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายแพทย์ตรวจการสาธารณสุขและเป็นกรรมการสาธารณสุขและการแพทย์) บทความเรื่อง “ถั่วเหลือง” ใน หนังสือแถลงการณ์สาธารณสุข เล่มที่ 12 อันดับ 12 (มีนาคม 2479) และบทความเรื่อง “ทำไมต้องปฏิรูปอาหารการกินของชาติ?” ใน หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ (20 มกราคม 2480)

ในช่วงที่กรมสาธารณสุขจัดตั้งองค์การส่งเสริมอาหารขึ้นใน พ.ศ.2481 และเลื่อนสถานะเป็นกองส่งเสริมอาหารในปีต่อมา และเมื่อจัดตั้งกรมประชาสงเคราะห์ขึ้นใน พ.ศ.2483 ก็ได้โอนกองส่งเสริมอาหารมาสังกัดกรมประชาสงเคราะห์ โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กองบริโภคสงเคราะห์ (เมื่อตั้งกระทรวงสาธารณสุขในพ.ศ.2485 และท้ายที่สุดกองบริโภคสงเคราะห์ได้ถูกโอนมาเป็นกองอาหารและยาในสังกัดกรมสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข) กล่าวได้ว่า นายแพทย์ยงค์ มีบทบาทสำคัญในกองบริโภคสงเคราะห์ดังกล่าว และเห็นว่าหน้าที่อันสำคัญที่สุดของกองในขณะนั้นก็คือการ โฆษณา ลบล้างประเพณีโบราณอันขัดกับหลักวิชาบริโภคศาสตร์ และการเผยแพร่ความรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์แห่งการบริโภคให้แก่ข้าราชการ ครู นักเรียน และประชาชน

การกินอาหารในฐานะบันไดขั้นแรกแห่งการสร้างชาติ

นายแพทย์ยงค์ ชุติมาได้พูดออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงและเขียนบทความเกี่ยวกับอาหารออกเผยแพร่จำนวนหลายต่อหลายชิ้น เช่น บทความเรื่อง “การบริโภคเนื้อสัตว์” (พ.ศ.2484); “พลานามัยแห่งร่างกาย” (พ.ศ.2484); “เครื่องในสัตว์เป็นอาหารดี” (พ.ศ.2485); “เรื่องของการกินกับ”(พ.ศ.2485); และ “กินนมกินไข่” (พ.ศ.2485) เป็นต้น

เนื้อหาในบทความของนายแพทย์ยงค์ มุ่งชี้ให้คนเห็นถึงความสำคัญของการกินอาหารในฐานะบันไดขั้นแรกแห่งการสร้างชาติ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าอาหารที่คนไทยบริโภคอยู่นั้นยังไม่ได้สัดส่วนเหมาะสมแก่ความต้องการของร่างกาย กล่าวคือ บริโภคอาหารจำพวกข้าว แป้ง และน้ำตาลมากเกินไป แต่กินอาหารประเภท โปรตีน เกลือแร่ และวิตามินน้อยเกินไป อันนำไปสู่ขอเสนอว่า “ชาติไทยจักต้องปฏิวัติลัทธิประเพณี ตลอดจนวิธีของการกินและการครัว” โดยเฉพาะการปฏิวัติความเชื่อแต่เดิมที่คนมักจะสอนเด็กให้กินข้าวมากๆ กินกับน้อยๆ เพราะว่าจะเป็น “ตานขโมย” ซึ่งนายแพทย์ยงค์เห็นว่าเป็นคำสอนที่ผิดและมีอันตรายต่อชาติอย่างยิ่ง เพราะทำให้พลเมืองมีความบกพร่องในธาตุอาหารสำคัญจึงต้องสอนให้ กินกับมากๆ กินข้าวแต่พอควร

นายแพทย์ยงค์ พยายามประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้คนบริโภคเนื้อสัตว์รวมทั้งเครื่องในสัตว์ ไข่ และนม ซึ่งการเพิ่มกับข้าวต่างๆ ในสำรับอาหาร เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ ปลา ผัก ผลไม้มากๆ ยิ่งขึ้น สำหรับไทยแล้วไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหาที่ยากแก่การดำเนินการเหมือนในประเทศที่ขาดแคลนอาหาร เนื่องจากอาหารเหล่านั้นมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในประเทศไทย ทั้งนี้ในปีพ.ศ. 2483 กรมประชาสงเคราะห์ ได้มีการรณรงค์ให้พลเมืองกินไข่ ในฐานะที่เป็นแหล่งโปรตีน เกลือแร่และวิตามินราคาถูกที่ทุกคนสามารถซื้อหามากินได้ และนำไปสู่การเผยแพร่สุขบัญญัติว่าด้วยอาหารประเภทไข่ ให้เป็นอาหารอนามัยดีเลิศ เหมาะแก่การสร้างตนเองและสร้างชาติ ว่า “ไทยทุกคนกินไข่ทุกวันเพื่ออนามัย วันละ 2 ฟอง”

โครงการส่งเสริมอาหารของชาติปี 2481คือการเปลี่ยนแปลงนิสัยการกินครั้งสำคัญของคนไทย

กล่าวได้ว่า โครงการส่งเสริมอาหารของชาติปี 2481 ในยุคสร้างชาติได้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยในการกินอาหารครั้งสำคัญของคนไทย และทำให้เรื่อง “อาหารการกิน” กลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ที่รัฐไม่อาจเพิกเฉยให้เป็นเรื่องความชอบของบุคคลได้ เพราะสัมพันธ์กับการเพิ่มพลเมืองและความก้าวหน้าของชาติ ถึงกับตราเป็นกฏหมาย คือ “พระราชบัญญัติการทำสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน พุทธศักราช 2482” พระราชบัญญัติฉบับนี้ แสดงเหตุที่มาเพียงสั้นๆ ว่า “สมควรส่งเสริมการสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน” และกำหนดบังคับให้ประชาชนที่เป็นเจ้าบ้านมีหน้าที่จัดทำการสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์บนที่ดินที่ตนอาศัยอยู่ตามชนิดที่กรมการอำเภอในเขตต์นั้นกำหนดไว้ และให้มีปริมาณพอเพียงแก่การช่วยเหลือใช้จ่ายในครัวเรือน ให้เจ้าหน้าที่พนักงานผู้มีอำนาจคอยสอดส่องและตรวจตรา ให้เจ้าบ้านปฏิบัติตามคำสั่ง และทำการตักเตือนเป็นหนังสือหากเจ้าบ้านไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งยังกำหนดโทษปรับหากไม่ปฏิบัติตามไว้เป็นจำนวนเงินไม่เกินสิบสองบาทอีกด้วย

เก็บความจาก

ทวีศักดิ์ เผือกสม. นโยบายเพิ่มพลเมือง [2].หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย

โครงการส่งเสริมอาหารของชาติปี 2481 ในยุคสร้างชาติได้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยในการกินอาหารครั้งสำคัญของคนไทย และทำให้เรื่อง “อาหารการกิน” กลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ที่รัฐไม่อาจเพิกเฉยให้เป็นเรื่องความชอบของบุคคลได้ เพราะสัมพันธ์กับการเพิ่มพลเมืองและความก้าวหน้าของชาติ