ผอ.รพ.แม่จัน ยืนยัน งบประมาณกองทุนคืนสิทธิสำหรับรักษาคนไร้สถานะ รพ.ได้รับปีละ 10-20 ล้านบาท ช่วยเสริมสภาพคล่องโรงพยาบาล-จัดบริการได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมป้องกันโรค ระบุ แนวโน้มการเข้าถึงบริการของผู้มีปัญหาสถานะเพิ่มมากขึ้น
นพ.สุรชัย ปิยวรวงศ์
นพ.สุรชัย ปิยวรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่จัน จ.เชียงราย กล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ว่า แต่เดิมกองทุนคืนสิทธิคล้ายๆ กับว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้งบจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยตรง แต่เขาเหล่านั้นก็เป็นคนที่เคยอยู่อาศัยในบริเวณประเทศไทยมานานพอสมควร อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิและสถานะ
นพ.สุรชัย กล่าวว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีมากในบริเวณชายแดนประเทศไทย โดยหลังจากเกิดปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ซึ่งโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาส่วนหนึ่งคือโรงพยาบาลที่ต้องให้บริการกับคนกลุ่มนี้ เป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาคนกลุ่มนี้ขึ้นมาแล้วก็ตั้งงบในลักษณะเป็นงบรายหัวของ สธ.เพื่อจัดบริการให้กับคนกลุ่มนี้
สำหรับ อ.แม่จัน มีประชากรบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิประมาณ 1-2 หมื่นคน และค่อยๆ ลดลง เพราะบางคนทยอยได้รับสิทธิบัตรทองเนื่องจากผ่านการพิสูจน์สถานะและสิทธิได้รับสัญชาติไทย แต่ก็มีรายใหม่เข้ามาด้วยเช่นกัน โดยงบที่ได้รับจาก สธ.ประมาณปีละ 10-20 ล้านบาทนั้น แบ่งออกเป็น ค่าบริการผู้ป่วยนอก ค่าบริการส่งเสริมป้องกันโรค และอีกส่วนหนึ่งถูกกันไว้ส่วนกลางเป็นค่าบริการผู้ป่วยใน ซึ่งทางโรงพยาบาลต้องมีข้อมูลไปขอเคลม ซึ่งจะได้เงินคืนกลับมาในรูปของเงินบำรุง
นพ.สุรชัย กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลได้งบดังกล่าวมาช่วยจัดบริการและยังนำมาบริหารจัดการเพื่อเสริมสภาพคล่องภายในโรงพยาบาล เช่น ช่วยเหลือเรื่องค่ายาเวชภัณฑ์ต่างๆ เป็นการนำงบมาช่วยบริหารจัดการในภาพใหญ่ ส่วนเงินค่าบริการผู้ป่วยในที่ได้กลับมาในรูปของเงินบำรุง โรงพยาบาลก็จะเอามาใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทน เป็นค่ายา ฯลฯ ซึ่งนับว่าได้ประโยชน์เยอะมาก
นพ.สุรชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้ก็เข้าถึงบริการอยู่แล้ว แต่เมื่อมีกองทุนคืนสิทธิก็พบว่าแนวโน้มการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น เพราะเดิมการใช้บริการอาจจะมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจจะไม่ค่อยกล้ามาโรงพยาบาล หรือรอจนป่วยหนักถึงจะยอมมาโรงพยาบาล ฉะนั้นการมีกองทุนคืนสิทธิถือว่ามีประโยชน์มาก
“ที่สำคัญก็คือเราได้งบไปทำเรื่องของส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ก็คือว่าเงินก้อนนี้มีประโยชน์มาก เพราะเวลาบริการจัดการนั้นเราไม่ได้แยกส่วนกัน อย่างงบ UC ส่วนหนึ่งเราก็มีสำหรับส่งเสริมป้องกันโรคอยู่แล้ว แต่ในบางแห่งหากไม่พอ เราก็นำงบส่วนนี้เข้ามาเสริมอีกแล้วก็ขยายบริการให้ครอบคลุม เพราะกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำเฉพาะกับคนกลุ่มนี้ ฉะนั้นงบส่วนนี้จึงเป็นส่วนเสริมกับ UC เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพให้มากที่สุด” นพ.สุรชัย กล่าว
นพ.สุรชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิจะทราบสิทธิของตัวเองมากยิ่งขึ้น เพราะในแต่ละปีจะมีการสำรวจหรือให้เขาเหล่านั้นลงทะเบียนยืนยันตัวตน เมื่อเขาเหล่านั้นมาถึงโรงพยาบาลเราก็จะแจ้งสิทธิให้ว่ามีประกันสุขภาพแล้ว ส่วนตัวคิดว่าหากมีการเพิ่มเติมเรื่องการประชาสัมพันธ์เชิงรุกของ สธ.ว่า สธ.เป็นผู้หางบประมาณมาให้ ก็จะยิ่งทำให้คนทราบสิทธิมากขึ้นและเข้าถึงบริการมากขึ้น
- 77 views