ปลัด สธ.ชี้ระบบสุขภาพชุนชนจะเป็นธรรมและยั่งยืน ต้องพัฒนาคน และระบบบริการปฐมภูมิ
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระบบสุขภาพชุมชนระดับชาติ ครั้งที่ 1 : การขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนสู่ความเป็นธรรมและยั่งยืนด้านสุขภาพ จัดโดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานสุขภาพชุมชน โดยมีนักวิชาการ นักสาธารณสุข และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมกว่า 400 คน
นพ.โสภณ กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนสู่ความเป็นธรรมและยั่งยืน จะบรรลุเป้าหมายนั้นต้องพัฒนาในหลายด้านและบูรณาการทำงานจากทุกฝ่าย ในเรื่องระบบสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมาย 3 ด้านคือ
1.ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้รับการส่งเสริม และพัฒนาการป้องกันโรคภัยด้วยตนเอง และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
2.ระบบบริการ ยกระดับโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.ในการให้บริการด้านสุขภาพก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ
และ 3.ประเทศมีระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย มุ่งสู่ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาทุกกลุ่มวัย กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือบูรณาการ 4 กระทรวงหลักได้แก่ มหาดไทย ศึกษาธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสาธารณสุข โดยเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย 4.0 อาทิ ให้เด็กมีพฤติกรรมสุขภาพดี มีความรู้ดูแลสุขภาพตนเองได้ สูงดี สมส่วน สมวัย มีพัฒนาการดี มี IQ / EQ สูง ใฝ่เรียนรู้ มีวินัย กตัญญูกตเวที รักชาติ รักสิ่งแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ อาทิ มีระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุ มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว กองทุนสวัสดิการชุมชน ผู้สูงอายุได้รับความคุ้มครองทางสังคม มีศูนย์เรียนรู้คุณภาพทั่วประเทศ มีชมรมผู้สูงอายุคุณภาพ อยู่ในครอบครัว สังคมที่อบอุ่น
นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการให้บริการ ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วย Family care visit แบบใกล้บ้าน ใกล้ใจ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 กำหนดไว้ว่า “ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม” โดยใช้นโยบายคลินิกหมอครอบครัวที่มีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพ ดูแลประชาชน 10,000 คน/ 1 ทีม ทำงานเชิงรุก ภายใต้สโลแกน “ให้บริการทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยเทคโนโลยี”
ตั้งเป้าในปี 2569 ปีจะมีหมอครอบครัว 6,500 ทีม ดูแลประชาชน 65 ล้านคน และสร้างอาสาสมัครครอบครัว (อสค.) เป้าหมาย 5 ปีครอบครัวละ 1 คน ครอบคลุม 4 ล้านครัวเรือน โดยนำร่องในครัวเรือนที่มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
รวมทั้ง ได้ผลักดันคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ District Health Board เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบสุขภาพ เน้นบูรณาการทั้งด้านงบประมาณและกำลังคน มีนายอำเภอเป็นประธาน สาธารณสุขอำเภอ เป็นเลขานุการ มีตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และตัวแทนภาครัฐ มาร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามสภาพปัญหาของแต่ละอำเภอ ตามแนวทางประชารัฐ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง บนฐานระดับอำเภอ เน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็กปฐมวัย อุบัติเหตุ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขยะ สิ่งแวดล้อม
- 360 views