ป.ป.ช. ชงข้อเสนอ ครม.ป้องกัน ขรก.ช็อปปิ้งยา หมอยิงยา ฮั้วบริษัทขายยา แจงพบทุจริตและมีการร้องเรียนหนัก ทั้งมีปัญหาค่าใช้จ่ายสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ปี 59 เบิกสูงกว่า 7.1 หมื่นล้าน ขอให้ตั้งศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศยา เชื่อมโยง รพ.ทุกสังกัดและกรมบัญชีกลาง ด้านรองนายกฯ วิษณุรับข้อเสนอ ให้ สธ.-คลัง-สปสช. ดำเนินการแล้ว
นายสรรเสริญ พลเจียก
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 20,476 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2545 เป็น 46,481 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2550 และยังคงมีอัตราค่าใช้จ่ายที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 71,016 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2559
ในการนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาสำนักงาน ป.ป.ช. ศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอมาตรการปรับปรุงระบบการควบคุม การเสนอการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิรักษาพยาบาล เพื่อลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิเคราะห์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ท. กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมบัญชีกลาง เป็นต้น ได้ข้อมูลว่าสาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการของข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากหลายปัจจัยและมีกระบวนการเกี่ยวข้องโยงใยเครือข่ายการทุจริต 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ กลุ่มสถานพยาบาลและบุคลากรในสถานพยาบาล และกลุ่มบริษัทจำหน่ายยา โดยมีพฤติกรรม ได้แก่
1. พฤติกรรมช็อปปิ้งยา เป็นพฤติกรรมการใช้สิทธิโดยทุจริตของผู้มีสิทธิและเครือญาติ ทั้งที่เป็นผู้ป่วย หรือไม่มีอาการป่วย ด้วยการตระเวนใช้สิทธิของตนตามโรงพยาบาลต่างๆ หลายๆ แห่ง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ขอรับยาเกินความจำเป็นทางการแพทย์ บางรายนำยาที่ได้จากการรักษาไปจำหน่ายต่อ
2. พฤติกรรมยิงยา เป็นพฤติกรรมการจ่ายยาของบุคลากรในสถานพยาบาลโดยทุจริต เช่น สั่งจ่ายยา เกินความจำเป็นของผู้ป่วยหรือสั่งจ่ายยาเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวกับโรคของผู้ป่วย บันทึกข้อมูลสั่งจ่ายยาสูงกว่าที่จ่ายจริง สั่งจ่ายยาโดยไม่มีการรักษา โดยมีเป้าหมายจ่ายยาออกไปมากๆ เพื่อทำยอดจำหน่ายยา เป็นการร่วมกันระหว่างบริษัทจำหน่ายยา สถานพยาบาลและบุคลากรในสถานพยาบาล มีการจ่ายค่าคอมมิชชั่น หรือเปอร์เซ็นต์ยา การเสนอผลประโยชน์ให้จากยอดจำหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น ตัวเงิน ยาแถม การดูงานต่างประเทศ
ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นชอบให้มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ดังนี้
1. ข้อเสนอแนะเชิงระบบ
(1) เสนอให้ผลักดันยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use : RDU) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์คำนึงถึงเหตุผลทางวิชาการในการตัดสินใจ จ่ายยามากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์จากบริษัทยา
(2) การเสนอให้มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยา ซึ่งเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลทุกสังกัด และกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และในระหว่างที่ยังไม่มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยาดังกล่าว กรมบัญชีกลางต้องมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
(3) กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา เพื่อป้องกันการซื้อยาโดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ทั้งนี้ต้องนำเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการขายยา และหลักเกณฑ์ตามมาตรา 103/7 และมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาเป็นเกณฑ์ในการจัดซื้อ
2. ข้อเสนอแนะเชิงภารกิจ
(1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายดำเนินการอย่างเข้มงวด
(2) ผลักดันให้มีการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการขายยา
(3) ปลุกจิตสำนึกของบุคลากรของรัฐ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมการส่งเสริมการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิอย่างไม่เหมาะสม
(4) ผลักดันให้มีการจัดทำมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม ตามมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ภาคเอกชนมีมาตรการป้องกันไม่ให้บุคลากรของตนเสนอประโยชน์ให้แก่บุคลากรของรัฐ
มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 เลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งหนังสือตอบกลับ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว โดยระบุว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาเรื่องนี้ ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว และให้แจ้งผลการดำเนินการส่งกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน
- 71 views