คกก.พิจารณา กม.หลักประกันสุขภาพ คงร่วมจ่ายไว้ แยกเงินเดือน และให้ สธ.จัดซื้อยา ซึ่งเป็น 3 ประเด็นที่ภาค ปชช.คัดค้านมาตลอด พร้อมเรียกร้องหมอปิยะสกล รมว.สธ. แสดงความรับผิดชอบต่อผลในอนาคตและตั้งคณะทำงานติดตามผล กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพถาม หวั่นยา-เวชภัณฑ์ขาดแคลนซ้ำรอยอดีต

สำนักข่าวประชาไทรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 เวลา 9.30 น. เครือข่ายภาคประชาชน คนรักหลักประกันสุขภาพ รวมตัวกันที่หน้าบริเวณสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามการพิจารณาการแก้ไขกฎหมายของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเรียกร้องให้ทางคณะกรรมการเปิดเผยข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และรอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยระหว่างรอ ทางเครือข่ายฯ มีการตั้งวงอภิปรายให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหากฎหมาย รวมทั้งเรียกร้องให้ตัดประเด็นการร่วมจ่ายออกจากมาตรา 5 ในกฏหมายหลักประกัน

เวลาประมาณ 12.30 เครือข่ายภาคประชาชนฯ ได้รับทราบผลการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมการฯ ว่า จะยังคงประเด็นการร่วมจ่ายไว้ในมาตรา 5, ให้หน้าที่การจัดซื้อยาเป็นของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และทำการแยกเงินเดือนจากเงินเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เครือข่ายภาคประชาชนฯ คัดค้าน

เนื่องจากอาจทำให้เกิดการร่วมจ่ายได้ในอนาคต ประเด็นการให้ สธ. เป็นผู้จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาจทำให้ไม่สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ในราคาถูกและมีประสิทธิภาพเพียงพอ ขณะที่การแยกเงินเดือนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่

เครือข่ายภาคประชาชนฯ จึงนำสัญลักษณ์โลงศพและพวงหรีดมาวางที่ด้านหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้อ่านแถลงการณ์ โดยเนื้อความตอนหนึ่งเรียกร้องต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า

1.ขอเรียกร้องให้เป็นเปิดเผยข้อมูลความเห็นในการแก้ไขกฎหมายที่ยังมีความเห็นต่างต่อสาธารณะและสร้างกระบวนการที่เป็นกลาง โปร่งใส ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาค

2.ขอเรียกร้องให้ นพ.ปิยะสกล ในฐานะ รมว.สธ. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาแถลงชี้แจงแสดงความรับผิดชอบยอมรับต่อผลที่จะตามมาจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นหลังจากการแก้ไขครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

3.ขอเรียกร้องให้ นพ.ปิยะสกล แต่งตั้งคณะทำงานที่น่าเชื่อถือ เป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินการติดตามผลการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการแก้ไขกฎหมาย แม้ว่าท่านจะไม่ใช่ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ตาม

ด้านสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตัวแทนภาคประชาชน อธิบายกับประชาไทถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ สธ. ทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์แทน สปสช. ว่า

“ขณะนี้ สปสช.จ่ายเป็นยา เช่น ยามะเร็งเข็มละแสนสองแสนหรือขดลวดขยายหัวใจ ก็เจรจาซื้อตรงกลาง ซึ่งทำให้ซื้อได้ราคาถูก แล้ว สปสช. ก็ไม่ได้จ่ายเป็นเงินให้โรงพยาบาลที่รักษามะเร็ง แต่ให้เป็นยา คุณใช้ไปเท่าไหร่ เราก็ทดแทนให้ เพราะเราเป็นคนซื้อให้ ที่เราบริหารแบบนี้เพราะคนไข้มะเร็งไม่ได้อยู่ทุกโรงพยาบาล เราจะเหมาจ่ายไปให้ทุกโรงพยาบาลเพื่อรักษามะเร็งไม่ได้ ยังไงก็ต้องประกันให้ประชาชนว่า ถ้าใครเป็นโรคหัวใจ ใครต้องผ่าตัดสมอง มันมีกองกลางอยู่ตรงกลาง คุณเคลมมาที่นี่ ตอนนี้ให้เคลมเป็นวัสดุ ยา หรือเงินก็ได้

“แต่ต่อไปเขาอาจจะบอกว่าให้เคลมเฉพาะเงิน แล้วกระทรวงสาธารณสุขจะไปเจรจากับทางบริษัทนั้นเองว่า ถ้าใครจะซื้อวัสดุน่าจะได้ราคานี้นะ แล้วให้โรงพยาบาลนั้นซื้อเอง คือกระทรวงสาธารณสุขคงไม่สามารถเป็นคนซื้อแล้วสต็อกไว้ที่กระทรวงและส่งออกไปได้ มันจะเป็นกระบวนการที่ซ้ำซ้อนและที่ผ่านมากระทรวงทำไม่ได้ คือเขาจะมีราคากลางไว้ ถ้าคุณซื้อจากบริษัทนี้ คุณจะได้ราคานี้ แต่มันก็เป็นอิสระของโรงพยาบาลที่จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้

“ที่ผ่านมาในอดีตเคยมีว่า ยาต้านไวรัสควรซื้อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่บางโรงพยาบาลอาจจะยังไม่ซื้อ ไม่พร้อมซื้อ อยากเอาไปซื้ออย่างอื่นก่อน เอชไอวีเอาไว้ทีหลัง แล้วก็ขาดยา ผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็ร้องว่าไม่ได้กินยา สมมติว่าเราเป็นมะเร็ง ต้องทำคีโม วันนี้โรงพยาบาลไม่พร้อมจะซื้อคีโมสต็อกไว้เยอะๆ แต่ดันมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น รอก่อน เรายังให้คีโมคุณไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ เพราะมันเป็นเสรีภาพของทุกโรงพยาบาล กระทรวงจะสั่งทุกโรงพยาบาลได้มั้ย ถ้าสั่งไม่ได้ กระทรวงต้องซื้อคีโมเอง แล้วส่งคีโมไป กระทรวงก็ต้องบริหารเหมือนที่ สปสช.บริหารในสิบปีที่ผ่านมา ต้องสร้างระบบขึ้นมาใหม่ ถ้าจะรับประกันว่าจะมีระบบแบบเดิมก็ไม่ว่ากัน หรือต่อไปอาจกลายเป็นให้ สปสช. ทำให้ แต่ฉันเป็นคนตัดสินก็ได้ ประเด็นคือ สปสช.ทำดีอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้ทำต่อ ไม่ยอม อ้างว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้”

ด้านนิมิตร์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายภาคประชาชนฯ จะทำการยื่นร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของภาคประชาชนประกบไปกับร่างกฎหมายของคณะกรรมการฯ ในขั้นตอนต่อไป

 

แถลงการณ์ “แก้กฎหมายบัตรทองไม่ชอบธรรม ไร้ธรรมาภิบาล” รายละเอียดดังนี้

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับ พ.ศ. 2545 และได้มีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นไปแล้วจำนวน 4 ครั้งในภูมิภาค และเวทีปรึกษาหารือสาธารณะอีก 1 ครั้งแล้วนั้น แม้จะมีเสียงคัดค้านจากเครือข่าย และกลุ่มประชาชนจากหลายส่วน แต่คณะกรรมการยกร่างและแก้ไขกฎหมายกลับเดินหน้าแก้ไขกฎหมายโดยไม่มีการชี้แจงให้สาธารณะรับรู้ ทั้งประเด็นที่มีการเห็นร่วม ประเด็นที่เห็นต่าง รวมทั้งไม่มีการชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้

ในการเริ่มต้นแก้กฎหมายดังกล่าว นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนายวรากรณ์ สามโกเศศ ประธานการแก้ไขกฎหมาย ชี้แจงไว้ชัดเจนว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้แก้แล้วต้องดีขึ้น และจะแก้เฉพาะประเด็นที่เห็นตรงกันและเป็นฉันทามติเท่านั้น โดยเน้นการแก้ไขตามคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช.ที่ 37/2559 เท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีการสอดไส้ประเด็นแก้ไขเพิ่มเติม และยืนยันเดินหน้าแก้ไขในหลายประเด็น แม้ว่าจะมีข้อเห็นต่างและไม่ได้เป็นฉันทามติก็ตาม แม้ประชาชนจะท้วงติงให้มีการนำประเด็นเห็นต่างมาร่วมกันหาข้อสรุปร่วมกันทุกฝ่ายก่อน แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองจาก รัฐมนตรี สธ. และคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายฯ แต่อย่างใด

ที่ผ่านมามีประชาชนหลายกลุ่ม หลายเครือข่ายได้ออกมาแสดงความคิดเห็น และคัดค้านการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้อย่างกว้างขวาง ด้วยการแสดงออกในหลายรูปแบบ ทั้งในเวทีรับฟังความเห็น รวมทั้งการสื่อสารสาธารณะอย่างต่อเนื่อง แต่คณะกรรมการแก้ไขฯ และรัฐมนตรี สธ. กลับไม่เคยรับฟัง และมีท่าทีที่ไม่เคารพต่อสิทธิและความเห็นของประชาชน เห็นได้จากการใช้กำลังทหารตำรวจจำนวนมากมากดดันในเวทีรับฟังความเห็นที่ผ่านมา รวมทั้งยังมีการติดตามคุกคามผู้นำประชาชนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การจัดเวทีรับฟังความเห็นที่ผ่านมายังไม่ได้เอื้ออำนวยให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง กระบวนการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในมาตรา 77 และ 78 ในทางตรงกันข้าม สิทธิของประชาชนที่ต้องการจะแสดงความคิดเห็นเพื่อมีส่วนร่วมกลับถูกจำกัดและคุกคาม

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และภาคีเครือข่าย ขอยืนยันจุดยืนและเรียกร้องต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

1.ขอเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลความเห็นในการแก้ไขกฎหมายที่ยังมีความเห็นต่างต่อสาธารณะ และสร้างกระบวนการที่เป็นกลาง โปร่งใส ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาค

2.ขอเรียกร้องให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ออกมาแถลงชี้แจงแสดงความรับผิดชอบยอมรับต่อผลที่จะตามมาจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นหลังจากการแก้ไขครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

3.ขอเรียกร้องให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร แต่งตั้งคณะทำงานที่น่าเชื่อถือ เป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินการติดตามผลการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการแก้ไขกฎหมาย แม้ว่าท่านจะไม่ใช่ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ตาม

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและภาคีเครือข่าย ขอยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม ไร้ธรรมาภิบาล ไม่เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนแต่ไม่ให้ประชาชนมากำหนดสิทธิประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีหลักการที่ยึดโยงกับประโยชน์ของประชาชน แต่กลับใช้อำนาจรัฐราชการมาเป็นคนกำหนดภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เราขอยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ โดยการนำชุดความรู้ ประสบการณ์ของประชาชนมาเป็นหลักในการแก้ไข และเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่อย่างเสมอภาคและกว้างขวาง