อนุกรรมการประชาพิจารณ์กฎหมายบัตรทองส่งมอบผลการรวบรวมความเห็นแก่รองประธานคณะกรรมการยกร่างเรียบร้อยแล้ว ชี้มีประชาชนแสดงความเห็น 91% ของผู้แสดงเจตจำนงทั้งหมด ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่การสร้างการมีส่วนร่วม ด้าน “นพ.เสรี” เผยคณะกรรมการนัดประชุมวันที่ 6 ก.ค. 2560 ส่วนแนวทางการพิจารณาจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับประธานคณะกรรมการ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ได้เข้าส่งมอบผลการรวบรวมความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แก่ นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 30 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลังจาก นพ.เสรี ได้รับมอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว ได้ส่งมอบต่อให้แก่ นพ.มรุต จิรเศรษฐศิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯในทันที เพื่อที่จะนำเสนอแก่ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการฯ ต่อไป
นพ.พลเดช กล่าวว่า ในภาพรวมการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา มีประชาชนแสดงเจตจำนงเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น 2,098 คน และมีผู้เสนอความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ การตอบแบบสอบถาม การพูดในเวทีประชาพิจารณ์รวมทั้งหมดประมาณ 2,000 คน หรือคิดเป็น 91% ของผู้แสดงเจตจำนงทั้งหมด ในทางวิชาการถือว่ากระบวนการออกแบบรับฟังความคิดเห็นประสบความสำเร็จในแง่การสร้างการมีส่วนร่วม ส่วนรายละเอียดเนื้อหาก็สามารถส่งมอบได้ตรงเวลา ซึ่งเอกสารที่ส่งมอบในวันนี้เป็นเอกสารฉบับย่อ โดยจะนำขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ด้วยเช่นกัน
นพ.เสรี กล่าวว่า การรับเอกสารครั้งนี้ เป็นการรับแทน รศ.ดร.วรากรณ์ ซึ่งติดภารกิจไม่สามารถมาได้ ซึ่งหลังจากได้ที่ตนได้รับเอกสารมาแล้วจะยังไม่เปิดอ่าน แต่จะมอบให้ นพ.มรุต เพื่อส่งมอบแก่ รศ.ดร.วรากรณ์ ต่อไป ส่วนแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการนั้น ยังไม่สามารถตอบได้เนื่องจากขึ้นอยู่กับประธานคณะกรรมการ โดยขณะนี้มีหนังสือเชิญประชุมมาแล้วในวันที่ 6 ก.ค. 2560
ด้าน นพ.มรุต กล่าวว่า ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ สช.ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศไทยในการทำประชาพิจารณ์ที่กว้างขวางที่สุดและรับฟังความคิดเห็นมากที่สุด หลังจากนี้ตนจะนำข้อมูลเสนอแก่ประธานคณะกรรมการฯ และทางคณะกรรมการจะประชุมพิจารณาทั้งความเห็นพ้อง ความเห็นต่างและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อดูว่าควรปรับปรุงร่างกฎหมายในส่วนไหน
“แนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการก็คงดูตามเหตุตามผล อะไรที่มีความเห็นต่างก็ต้องดูว่าเขากังวลเรื่องอะไร มีเหตุผลที่น่ากังวลเช่นนั้นหรือไม่ บางอย่างหากมีความเห็นต่างจากที่คณะกรรมการเขียนไว้และภายหลังเราพบว่ามันอาจมีส่วนที่เป็นไปอย่างที่เขากังวล เราก็อาจแก้ไขก็ได้” นพ.มรุต กล่าว
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการยังรอผลการศึกษาจากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้ศึกษาผลกระทบในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ว่าสิ่งที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ และผลกระทบในด้านลบมีอะไรบ้าง รวมทั้งประเด็นที่ต้องระมัดระวังในการแก้กฎหมาย คาดว่าสถาบันพระปกเกล้าน่าจะส่งผลการศึกษาผลกระทบวันที่ 12 ก.ค. และคิดว่าน่าจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สิ้นเดือน ก.ค.โดยคณะกรรมการจะพิจารณาทั้ง 2 ส่วนร่วมกันก่อนจะสรุปและนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ นพ.มรุต กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ คงไม่มีการถ่ายทอดหรือเปิดให้คนนอกเข้าสังเกตการณ์เนื่องจากเป็นการประชุมเฉพาะ กรรมการจะได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และหลังจากประชุมพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจจะแจ้งต่อสาธารณอีกครั้งว่าเสร็จและส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา ส่วนรัฐมนตรีจะพิจารณาอย่างไรคงต้องให้เวลาท่านด้วย
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 มีการประกาศใช้มา 15 ปี แม้ด้านหนึ่งจะสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่ประชาชน แต่อีกด้านก็พบว่าบางมาตราก็มีข้อจำกัดในการดำเนินงาน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ แนวทางของคณะกรรมการฯ ต้องการให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และทำให้ระบบยั่งยืนมากขึ้น โดยขอเรียนว่าประชาชนยังเข้าถึงสิทธิทุกประการในระบบหลักประกันสุขภาพ เพียงแต่กระบวนการแก้ไขกฎหมายก็ทำคู่กันไปเพื่อปรับให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
- 5 views