Same day surgery หมายถึงระบบการให้บริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ ซึ่งเป็นระบบการให้บริการโดยภาพรวม ไม่ใช่เทคนิคทางวิสัญญีวิทยาเท่านั้น สำหรับในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้นจะมีสถานที่ให้บริการเฉพาะเป็น same day surgery center ซึ่งมีมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ โดยใช้ Ambulatory anesthesia อันเป็นเทคนิคการระงับความรู้สึกที่ทําให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว มีผลข้างเคียงน้อยสามารถที่จะกลับบ้านได้ในวันนั้นเลย ซึ่งมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยจะต้องมีทั้งก่อน / ระหว่าง / หลังการผ่าตัด แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการอื่นๆ เช่น ระบบการบันทึกเวชระเบียน ระบบการนัดผู้ป่วย ระบบการเบิกชดเชยค่ารักษา เทคนิควิธีการผ่าตัด การบริหารจัดการห้องผ่าตัด ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาระบบบริการ Same day surgery จึงหมายถึงการพยายามจัดระบบรูปแบบ หรือแนวทางในการให้บริการเพื่อให้หน่วยบริการสามารถให้บริการผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดให้สามารถมาเช้าวันผ่าตัดและสามารถกลับได้ในวันเดียวกัน

ข้อดีของ Same day surgery คือ

- ผู้ป่วยพึงพอใจโดยเฉพาะเด็ก คนแก่ ซึ่งไม่คุ้นชินสถานที่

- ลดอัตราการครองเตียง

- ลดอัตราการเกิด Morbidity / Mortality

- ลดอัตราการติดเชื้อ

- ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจ

- เพิ่มปริมาณผู้ป่วยที่สามารถให้บริการได้

- ระยะเวลารอผ่าตัดสั้นลง

- ลดต้นทุนโดยภาพรวม

- ลดอัตราการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

- การลดต้นทุนด้วยการลดวันนอนที่ไม่จําเป็น

- การลดความแออัดของผู้ป่วยใน (IPD ปกติ)

- สามารถเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยใน IPD ปกติได้ดีขึ้น

- สามารถเพิ่มศักยภาพการให้บริการผู้ป่วย IPD ปกติได้มากขึ้น

- สามารถเพิ่มการเข้าถึงการบริการของผู้ป่วย IPD ปกติได้เร็วขึ้น

ในขณะที่ ข้อจํากัดของการพัฒนาระบบการให้บริการ Same day surgery ก็พบว่า มี

- มาตรฐานความปลอดภัยของผู้ป่วยเมื่อกลับบ้านไปแล้ว ทั้งระบบการติดต่อสื่อสารและระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน

- การจัดตั้งระบบการให้บริการรูปแบบใหม่ภายในสถานบริการ ต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานงานของทีมสหสาขาวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสั่งการจากผู้บริหารระดับสูง

- การชดเชยค่าบริการทางการแพทย์จากกองทุนที่เกี่ยวข้อง มีความแตกต่างของการชดเชยค่ารักษาระหว่าง IPD & OPD case ในทั้ง 3 กองทุน

ต้นแบบระบบ Same day surgery โรงพยาบาลยโสธร

กรณีตัวอย่างจากต้นแบบระบบการให้บริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับจากโรงพยาบาลยโสธร มีกระบวนการเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยทุกคนที่ได้รับการนัดเข้ารับบริการด้วยระบบ Same day surgery จะถูกส่งพบเจ้าหน้าที่คลินิกวิสัญญีเพื่อให้คำแนะนําในการเตรียมตัวเขารับการผ่าตัดรวมทั้งสิทธิด้านค่ารักษาพยาบาล พร้อมทั้งจะได้รับเอกสารแผ่นพับและบัตรนัดเข้ารับการผ่าตัด

โดยมีการพัฒนารูปแบบการเยี่ยมและเตรียมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยที่ต้องมารับการผ่าตัดทุกรายย่อมมีความเครียด ความวิตกกังวลจากการเจ็บป่วย หรือสิ่งที่ต้องเผชิญทั้งก่อนและหลังผ่าตัด การเยี่ยมและให้คําแนะนําก่อนผ่าตัดจึงมีความสําคัญอย่างยิ่ง

โรงพยาบาลยโสธรมีการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนผ่าตัดทุกราย มีการจัดทําคู่มือการเยี่ยมผู้ป่วยก่อนผ่าตัดกําหนดแนวทางปฏิบัติและผู้รับผิดชอบชัดเจน ซึ่งกรณีระบบ Same day surgery ผู้ทําหน้าที่เยี่ยมผู้ป่วยก่อนผ่าตัดและเตรียมความพร้อมผู้ป่วยคือวิสัญญีพยาบาลประจําจุด “Pre-op same day surgery” มีการกําหนดแนวทางการเก็บดัชนีชี้วัด ซึ่งบ่งบอกว่าระบบ Same day surgery มีความเหมาะสม สามารถดําเนินการได้ เช่น

จํานวนผู้ป่วยที่แพทย์และผู้ป่วยสมัครใจเข้าระบบ อัตราการเลื่อนผ่าตัดไม่เกินร้อยละ 1 ในแต่ละกรณี อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะและหลังผ่าตัดไม่มากกว่าการบริการระบบปกติ อัตราความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่ในการทํางาน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 อัตราความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น รวมถึงการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด พัฒนารูปแบบการติดตามผู้ป่วยหลังผ่าตัด 24 ชั่วโมง

ผลักดัน Same day surgery ขึ้นทั่วประเทศ

ในขณะนี้ได้มีแนวคิดการจัดระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ หรือ Same day surgery ขึ้นทั่วประเทศ โดยมีตัวอย่างการให้บริการระบบดังกล่าวของ รพ.ยโสธร เป็นต้นแบบ กล่าวคือ

มีการดำเนินงานรับสมัครสถานบริการเข้าโครงการการให้บริการผู้ป่วยด้วยระบบ same day surgery

ซึ่งคุณสมบัติของสถานบริการที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้นั้น ต้องมีวิสัญญีแพทย์ประจํา มีจุดบริการผู้ป่วย same day surgery unit ชัดเจน มีระบบการใหบริการที่ชัดเจน ทั้งการดูแลติดตามหลังการผ่าตัด (Pre-op evaluation & Preparation และPost-op care & Follow up) สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการต้องมีการเก็บดัชนีชี้วัดคุณภาพการบริการตามมาตรฐานต้นแบบของโรงพยาบาลยโสธร ทั้งนี้ สปสช.สนับสนุนสถานบริการที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยชดเชยค่าบริการผู้ป่วยที่ให้บริการด้วยระบบ same day surgery ในกลุ่ม DRG ที่กําหนด

สิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ คือ ทำให้ประชาชนผู้รับบริการได้รับการบริการไม่ต่ำกว่ามาตรฐานเดิม แต่จะได้ประโยชน์ในแง่ความพึงพอใจ ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่าย ลดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอคิวการผ่าตัดนาน โรงพยาบาลสามารถลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ในขณะที่รายได้ลดลงน้อยมาก ลดความแออัด สามารถเพิ่มศักยภาพ เพิ่มคุณภาพและเพิ่มปริมาณผู้ป่วยในการให้บริการ นอกจากนี้ ในภาพรวมจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศต่ำลง ประชาชนเข้าถึงบริการทางด้านศัลยกรรมมากขึ้น

จากข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยในทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2557 (ยกเว้นเขต 13 กรุงเทพมหานครและ รพ.รัฐ นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข) จากสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดทั้งสิ้น 774,326 ราย มีผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มที่สามารถใช้บริการด้วยระบบ same day surgery ได้ถึง 102,439 ราย นั่นหมายถึงว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยอย่างน้อย 102,439 ราย ที่สมควรได้รับการบริการด้วยระบบ same day surgery แต่สูญเสียโอกาสที่จะได้รับเนื่องจากสถานพยาบาลไม่สามารถให้บริการได้

และจากข้อมูลต้นทุนบริการ (unit cost) ของโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 10 ปีงบประมาณ 2556 พบว่าต้นทุนเฉลี่ยต่อวันนอนสูงถึง 3,508 บาท และเป็นส่วนของต้นทุนที่ไม่จําเป็น ซึ่งถ้าผู้ป่วยไม่นอนโรงพยาบาล สถานพยาบาลไม่ต้องจ่ายส่วนนี้สูงถึง 1,827 บาทต่อวัน ดังนั้นถ้าสามารถจัดระบบ same day surgery ได้ในระบบสาธารณสุขภาพรวมของประเทศจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1,827 บาท ต่อ 102,439 ราย หรือ คิดเป็นเงินกว่า 370 ล้านบาทโดยประมาณ

เก็บความจาก

พญ.ธิดา ยุคันตวรานันท์. ระบบการใหบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ : Same day surgery. กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา รพ.ยโสธร.