อธิบดีกรมการแพทย์เตือนโรคใกล้ตัว ผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป เสี่ยงข้อเข่าเสื่อม ชี้อายุมากกว่า 65 ปี เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้ เพศหญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศชาย 2-3 เท่า แนะควบคุมน้ำหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากความผิดปกติของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่าทั้งรูปร่าง โครงสร้าง คุณสมบัติ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกบริเวณใกล้ข้อ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นทำให้ผิวข้อเสียหายไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้และอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้น โรคข้อเข่าเสื่อมมีความสัมพันธ์กับอายุ โดยทั่วไปมักพบในผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี และพบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามการเกิดข้อเข่าเสื่อมไม่ได้เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น การเสื่อมสภาพตามวัย หรือการใช้งานข้ออย่างหนักเสมอไป อาจเป็นผลมาจากโรคหรือภาวะต่างๆ ได้แก่ ข้อเข่าเสื่อมหลังจากการบาดเจ็บรุนแรง กระดูกแตกหักถึงผิวข้อ การติดเชื้อโรคข้อทางเมตาบอลิค
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยง นอกจากอายุและการใช้งานข้อเข่าอย่างหนักแล้ว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากทำให้ผิวกระดูกอ่อนต้องรับแรงกระทำที่มากตามไปด้วย ส่งผลให้กระดูกผิวข้อเสื่อมสภาพได้มากขึ้น ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกและข้อเข่ามาก่อน ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบและรูมาติซึ่ม เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าต์ การอักเสบของข้อบ่อยๆ รวมทั้งพันธุกรรม นอกจากนี้ ยังพบว่าเพศหญิงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า
สำหรับอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมจะเริ่มมีอาการปวดบริเวณข้อเข่า ลุกขึ้นจากท่านั่งลำบาก ข้อขัด ฝืด ตึง มีเสียงดังกรอบแกรบเวลาขยับเข่า งอเข่าได้น้อยลง หรือเหยียดข้อเข่าได้ไม่สุด ในระยะแรกการปวดเข่ามักสัมพันธ์กับการลงน้ำหนัก การเดิน การขยับ ยกเว้นข้อเข่าเสื่อมจากโรคข้ออักเสบอาจมีอาการปวด บวม ร้อน ตลอดเวลาที่มีการอักเสบ ผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมอย่างรุนแรงในระยะท้าย อาการปวดเข่าอาจเกิดได้ตลอดเวลาหรือปวดตอนกลางคืนแม้ไม่ได้มีการใช้งาน ข้อเข่าจะมีการผิดรูปเกิดอาการขาโก่งหรือขาฉิ่งได้
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคข้อเสื่อมสามารถป้องกันหรือชะลอการเสื่อมได้โดย
1.ควบคุมน้ำหนักและลดน้ำหนัก สามารถช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่า และลดอาการปวดหัวเข่า การลดน้ำหนักต้องอาศัยการควบคุมอาหาร โดยรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย
2.ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ พฤติกรรม และสภาพแวดล้อม เช่น ควรเลือกนั่งบนเก้าอี้ที่มีความสูงพอเหมาะและมีที่รองแขนเพื่อใช้พยุงตัวเวลาลุกขึ้นยืน หลีกเลี่ยงการคุกเข่า นั่งยอง นั่งกับพื้น หรือนั่งพับเพียบขัดสมาธิ การงอเข่ามากๆ ส่งผลให้มีการเสียดสีกันของข้อเข่ามากขึ้นและทำให้ข้อเสื่อมได้เร็วขึ้น การใช้ห้องน้ำควรเป็นชักโครกแบบนั่ง หลีกเลี่ยงการใช้ส้วมซึมแบบนั่งยองๆ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าหรือเริ่มมีข้อเข่าเสื่อมควรหลีกเลี่ยงการเดินนานๆ การเดินบนพื้นผิวขรุขระ และใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง เช่น ไม้เท้า เพื่อลดแรงที่กระทำต่อเข่า
3.ออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขา โดยการออกกำลังกายในน้ำ ส่งผลดีต่อผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเพราะข้อเข่าไม่ต้องรับแรงกระทำและได้บริหารกล้ามเนื้อต่างๆ ส่วนการบริหารกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขา มีประโยชน์โดยตรงกับข้อเข่าที่เสื่อม ช่วยให้มีแรงในการขยับข้อเข่าและพยุงให้ข้อมั่นคงขึ้น สามารถทำได้ง่ายจึงควรบริหารเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
- 1395 views