ปลัด สธ. เผยผลการพัฒนาระบบบริการสาขาโรคหัวใจ โรงพยาบาลชุมชนสามารถให้ยาลิ่มเลือดได้ทุกแห่ง ส่วนมีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปให้บริการตรวจสวนหัวใจขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน และผ่าตัดหัวใจแบบเปิดครบทั้ง 12 เขตสุขภาพ ลดเวลารอคอยผ่าตัดหัวใจเหลือเฉลี่ยไม่เกิน 6 เดือน ช่วยลดการสูญเสียชีวิตประชาชน 21,961 ราย
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย รองจากโรคมะเร็ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้อมูลในปี 2558 มีผู้เสียชีวิต 61,871 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด 19,417 ราย กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบการดูแลรักษาโรคหัวใจตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว ใกล้บ้าน มีระบบเครือข่ายการส่งต่อที่ชัดเจนในแต่ละเขตสุขภาพ เชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลเล็กและโรงพยาบาลใหญ่ รวมทั้งมีการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยกลับไปยังโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านเพื่อให้ได้รับการดูแลต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่ต้องได้รับการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือยาละลายลิ่มเลือดทันเวลา
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ในรอบ 3 ปี กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบบริการสาขาโรคหัวใจ ดังนี้
1.พัฒนาให้โรงพยาบาลชุมชนตั้งแต่ 30 เตียงขึ้นไปทุกแห่งรวม 797 แห่ง สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดและจัดตั้งหน่วยดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
2.พัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ที่ให้บริการตรวจสวนหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน 23 แห่ง สามารถผ่าตัดหัวใจแบบเปิดได้ 19 โรงพยาบาลครบทั้ง 12 เขตสุขภาพ ลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดหัวใจเหลือเฉลี่ยไม่เกิน 6 เดือน
3.จัดตั้งคลินิกหัวใจล้มเหลวในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปรวม 42 แห่งจากที่มีทั้งหมด 81 แห่ง
4.มีอายุรแพทย์โรคหัวใจประมาณ 1,000 คน เป็นแพทย์ที่ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary interventionists) ได้ประมาณ 280 คน ช่วยลดการสูญเสียชีวิตประชาชน 21,961 ราย
สำหรับในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจให้เหลือไม่เกิน 28 คนต่อประชากรแสนคน และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในโรงพยาบาลไม่เกินร้อยละ 13.7 โดยจะพัฒนาให้โรงพยาบาลศูนย์ทุกเขตสุขภาพ มีระบบทางด่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (STEMI Fast Track) และมีบริการสวนหัวใจ ส่วนโรงพยาบาลชุมชนตั้งแต่ 30 เตียงขึ้นไปทุกแห่งสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ ผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรกปีงบประมาณ 2560 สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจเหลือ 11.1 ต่อแสนประชากร ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 28 คนต่อประชากรแสนคน และผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI) ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลเฉลี่ยร้อยละ 10.65 ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือร้อยละ 13.7
- 186 views