ภาคประชาชนอัดกระบวนการรับฟังความเห็นแก้กฎหมายบัตรทองพิกลพิการ แค่ 1 นาทีในเวทีเสวนา“แก้กฎหมายบัตรทองประชาชนได้อะไร” ยังถูกปิดปากไม่ให้พูด ย้ำเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้กฎหมายโดยไม่ฟังว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร พร้อมเสนอความเห็น “4 เอา 5 ไม่เอา และ 7 สิ่งที่ดีกว่า”
การเสวนา “แก้กฎหมายบัตรทองประชาชนได้อะไร” ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ วันที่ 21 มิ.ย.2560 ซึ่งมี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ..., นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมเสวนา ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อยเมื่อ นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ตัวแทนภาคประชาชนด้านแรงงาน และตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พยายามพูดเสนอความเห็นในช่วงท้ายการเสวนาหลังจากที่วิทยากรพูดจบแล้ว แต่ผู้ดำเนินการรายไม่อนุญาตให้พูด และพยายามตัดจบการเสวนาโดยเร็ว
ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์ดังกล่าว นางสุนทรี ได้ออกมาแถลงกับสื่อมวลชนบริเวณหน้าห้องเสวนา โดยระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้กฎหมายบัตรทองให้ประชาชนได้ประโยชน์ โดยไม่ฟังว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร นี่คือความพิกลพิการของกระบวนการประชาพิจารณ์ที่เวทีเสวนาซึ่งพูดเรื่องว่าประชาชนได้อะไรจากบัตรทอง แต่ไม่มีแม้แต่ 1 นาทีที่จะให้ตัวแทนประชาชนได้พูด เช่นเดียวกับความพิกลพิการของการประชาพิจารณ์ในวันที่ 18 มิ.ย.2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการใช้กำลังตำรวจ-ทหารนอกเครื่องแบบทำร้ายประชาชนที่มาร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น
นางสุนทรี กล่าวอีกว่า ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนซึ่งได้เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ทั้ง 4 ภาค ได้สรุปข้อคิดเห็นว่าภาคประชาชนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายบัตรทองในเรื่องใดบ้าง โดยมีหลักคือ “4 เอา 5 ไม่เอา และ 7 สิ่งที่ดีกว่า” ประกอบด้วย
ประเด็นที่เห็นเหมือนกันกับคณะกรรมการพิจารณาร่าง ฯ จำนวน 4 ประเด็นได้แก่
1. มาตรา 14 ห้ามดำรงตำแหน่ง 2 คณะในขณะเดียวกัน และให้รวมถึงการเป็นกรรมการหลักประกันฯ และต่อเนื่องเป็นคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ก็ให้ถือว่าดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกัน
2. มาตรา 15 วาระกรรมการไม่เกิน 2 สมัย โดยยึดตัวบุคคลห้ามใช้ตำแหน่งสลับไปมา
3. มาตรา 29 รายได้ของสำนักงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเห็นร่วมในการแก้ไข เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน เนื่องจากงานบริการด้านสุขภาพ อัตราการป่วย การตายเป็นการคาดการณ์ ควรมีระบบบริหารจัดการในลักษณะเงินหมุนเวียน
4. ยกเลิกมาตรา 42 เรื่องการไล่เบี้ย การกำหนดเรื่องการไล่เบี้ย เป็นปัญหาต่อผู้ให้บริการดังนั้นควรยกเลิกมาตรานี้ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ป่วย
ประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกับคณะกรรมการพิจารณาร่าง ฯ จำนวน 5 ประเด็น ได้แก่
1. ไม่เห็นด้วยเรื่องการเพิ่มนิยาม “เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ” ตามมาตรา 3 เนื่องจากการเพิ่มนิยามคำนี้ จะเป็นการขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุนในมาตรา 38 ที่ระบุว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ แต่การแก้ไขกลับเพิ่มนิยามที่จะส่งผลให้ไปจำกัดความหมายของ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ด้านการสนับสนุน ส่งเสริม การจัดบริการซึ่งสามารถสนับสนุนเป็นรูปแบบอื่นได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะตัวเงินเท่านั้น เช่นการสนับสนุนเป็นยา เวชภัณฑ์ เป็นต้น
ไม่เห็นด้วยเรื่องการแก้ไขนิยาม “สถานบริการ” ตามมาตรา 3 เนื่องจาก “หลักการ” ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการบริการรักษาอย่างมีมาตรฐานแล้ว ยังมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการร่วมจัดบริการด้านสุขภาพของประชาชน ประชาสังคม องค์กรสาธารณะ รวมทั้งองค์กรท้องถิ่น ดังนั้นจึงให้เพิ่มนิยาม “องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร”
ทั้งนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากผลการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ยกตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมให้บริการของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในรูปแบบ “ศูนย์องค์รวม” ที่สามารถติดตาม ดูแล ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถกินยาได้อย่างต่อเนื่อง ลดปัญหาการดื้อยา ส่งผลต่อการลดอัตราการเสียชีวิต หรือการริเริ่มของชุมชนในการให้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (Community Led Services) กับกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเปราะบางต่างๆ เป็นต้น
2. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 13 ในการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีเหตุผลดังนี้
2.1 ไม่เห็นด้วยกับการที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน เนื่องจากขัดกับหลักการแยกผู้จัดบริการและผู้ซื้อบริการ (Purchaser Provider Split)
2.2 ให้คงจำนวนผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนเดิม
2.3 เพิ่มผู้แทนหน่วยบริการในระดับต่างๆ จำนวน 5 คน เพื่อเป็นตัวแทนหน่วยบริการแทนผู้แทนสภาวิชาชีพที่ควรเป็นผู้แทนในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
2.4 ตัดผู้แทนหน่วยงานรัฐ จำนวน 4 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เหลือกรรมการจำนวน 26 คน จากเดิมจำนวน 30 คน
3. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 ที่มีการระบุเพียงให้ได้รับเงินด้วยเหลือเบื้องต้น แต่เห็นว่าควรต้องเพิ่มเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และยังคงเห็นร่วมว่าให้เพิ่มผู้ให้บริการเข้าไปในมาตรานี้ด้วย เพื่อลดการฟ้องคดีกับผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม และพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการโดยไม่มีระบบเพ่งโทษตัวบุคคล
4.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 46 ที่เสนอให้มีการแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว จะมีผลกระทบต่อการกระจายบุคลากร และในการแก้ไขมาตรานี้มีนัยยะสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในด้านการเข้าถึงบริการ หากบุคลากรไม่เพียงพอ ดังนั้นควรต้องมีการศึกษาด้านวิชาการ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณามาตรานี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากการแก้กฎหมายจะส่งผลต่อการปฏิบัติในระยะยาว
5.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 48 (8) ที่มีการเสนอเพิ่มเฉพาะวิชาชีพ และผู้ให้บริการเนื่องจากจะเป็นการลดสมดุลกรรมการในการพิจารณากรณีปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ให้บริการและผู้ป่วย ซึ่งในกฎหมายปัจจุบันสัดส่วนของผู้ให้บริการและวิชาชีพมีมากอยู่แล้ว ในขณะที่ในส่วนของผู้ป่วย และผู้รับบริการกลับมีสัดส่วนน้อย ดังนั้นภาคประชาชนจึงเสนอเพิ่มตัวแทนประชาชนจาก 5 คนเป็น 8 คน โดยให้เพิ่มสัดส่วนของงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ให้บริการตามมาตรา 50 (5) และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์จำนวน 3 คน
ขณะที่ข้อเสนอใหม่เพื่อการปฏิรูปในการแก้ไขกฎหมายจำนวน 7 ประเด็น ได้แก่
1. แก้ไขมาตรา 5 โดย
1.1. ให้บริการสาธารณสุขคนไทยทุกคน รวมถึง บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ
1.2. ยกเลิกการเก็บการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เพราะกระทบต่อการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยได้ ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐาน เป็นสาเหตุความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการและผู้รับบริการ เพื่อยืนยันคำพูดของนายกรัฐมนตรีว่าไม่เคยคิดเก็บเงินซักบาทเดียว
2. แก้ไขมาตรา 9 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน เนื่องจากสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข 20 ปี ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพที่ทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขโดยมีสิทธิประโยชน์เดียวกัน มีมาตรฐาน เพราะปัจจุบันมีสิทธิประโยชน์ในการรับบริการสาธารณสุขที่แตกต่างกัน รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน
3.แก้ไขมาตรา 10 เสนอให้มีมีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับประชาชนทุกคน และรัฐต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพให้ผู้ประกันตน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพทางตรงเพียงกลุ่มเดียว และเหตุผลอื่นๆ เดียวกันกับการแก้ไขมาตรา 9
4. เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 18 แก้ไขอำนาจของคณะกรรมการ ในการจัดหายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน โดยมีเหตุผลดังนี้
4.1 การเข้าถึงยา วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพงสำหรับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี มะเร็ง เป็นต้น
4.2 เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน โดยเพิ่มอำนาจกรรมการให้สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง 10 ปีที่ผ่านมา สปสช.จัดซื้อยารวมเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณได้มากถึง 50,000 ล้านบาท
4.3 ลดภาระงบประมาณของประเทศ หากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ รัฐบาลจะต้องนำเงินเพิ่มเติมปีละ5,000 ล้านบาท ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ
4.4 เป็นโอกาสในการเก็บเงินร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ ซึ่งทำให้เกิดหลายมาตรฐานบริการสาธารณสุข
4.5 เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการและผู้ป่วย
5. แก้ไขมาตรา 26 ให้สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่ไม่โปร่งใส ด้วยเหตุผลดังนี้
ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณที่ได้รับทำให้ต้องมีการกำหนดการจ่ายในลักษณะ Global budget ซึ่งหากหน่วยบริการใดที่ผลการตรวจสอบเชื่อได้ว่ามีการจงใจจัดทำข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายที่เกินจริงก็จะส่งผลกระทบกับหน่วยบริการอื่น ดังนั้น ควรมีมาตรการที่สามารถดำเนินการลงโทษทางปกครองกับหน่วยบริการที่จงใจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินจริง เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่หน่วยบริการที่ดำเนินการถูกต้อง ซึ่งการลงโทษทางปกครองเป็นการลงโทษการกระทำของบุคคลที่จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่
6. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 47/1 ให้สามารถสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร ให้สอดคล้องตามคำสั่ง คสช.ที่ 37/2559
6.1 เพื่อให้หน่วยบริการ เครือข่ายหน่วยบริการ หน่วยบริการที่รับการส่งต่อ ผู้รับบริการ องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร
6.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำกิจการในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
7. เสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลมาตรา 66 ออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 9 และมาตรา 10 เรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้านสุขภาพ
นางสุนทรี กล่าวทิ้งท้ายว่า หากคณะกรรมการพิจารณาแก้กฎหมายบัตรทองมีความจริงใจให้ประชาชนได้ประโยชน์ ไม่มีวิธีการอื่นนอกจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเท่านั้น
“จะมาจินตนาการเอาเองว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ ประชาชนรับไม่ได้” นางสุนทรี กล่าว
- 57 views